ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ปตท.รายงานสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ 12-16 มี.ค. 61 และแนวโน้มสัปดาห์ที่ 19-23 มี.ค. 61


 ราคาน้ำมันเฉลี่ยรายสัปดาห์ผันผวน โดยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 0.21 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่  65.16 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai)  เพิ่มขึ้น 0.25 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 61.46 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI)  ลดลง 0.39 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 61.31 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 0.09 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 75.34 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดีเซล เพิ่มขึ้น 0.88 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่  77.06 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

 ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
                  รายงานฉบับเดือน มี.ค. 61 ของ International Energy Agency (IEA) คาดความต้องการใช้น้ำมันโลกในปี    พ.ศ. 2561 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 99.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงขึ้นจากประมาณการในเดือนก่อนที่ 100,000 บาร์เรลต่อวัน
                 สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนรายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของจีนในเดือน ม.ค.-ก.พ. 61 ลดลงจากปีก่อน 1.9% มาอยู่ที่ 3.76 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
                 ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของเวเนซุเอลาเดือน ก.พ. 61 ลดลงจากเดือนก่อน 10% อยู่ที่ 1.59 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่ำสุดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 เพราะปัญหาขาดแคลนเงินลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบ ทั้งนี้ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบจากเวเนซุเอลาไปสหรัฐฯ เดือน ก.พ. 61 อยู่ที่ 380,000 บาร์เรลต่อวัน ลดลงจากเดือนก่อน 21% และ ต่ำสุดในรอบ 15 ปี
                กรมศุลกากรของเกาหลีใต้รายงานปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบ เดือน ก.พ. 61 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 6.2% มาอยู่ที่ระดับ 3.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
           Baker Hughes Inc. บริษัทลูกของ General Electric Co. รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะ (Rig) น้ำมันดิบในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 16 มี.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 4 แท่น มาอยู่ที่ 800 แท่น
           Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 9 มี.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 500,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 430.9 ล้านบาร์เรล ขณะที่ ปริมาณสำรองที่ Cushing รัฐ Oklahoma ซึ่งเป็นจุดส่งมอบน้ำมันดิบ WTI เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 340,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 29.54 ล้านบาร์เรล เพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 12 สัปดาห์
        รายงาน Drilling Activity Report ฉบับเดือน มี.ค. 61 ของ EIA คาดปริมาณการผลิต Shale Oil จาก 7 แหล่งผลิตหลักของสหรัฐฯ ในเดือน เม.ย. 61 จะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 130,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 6.95 ล้านบาร์เรลต่อวัน
       Commodity Futures Trading Commission (CFTC) รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า NYMEX ที่นิวยอร์กและ ICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุด 13 มี.ค. 61 กลุ่มผู้จัดการกองทุนลดสถานะถือครองสุทธิ (Net Long Position) ลงจากสัปดาห์ก่อน 24,677 สัญญา มาอยู่ที่ 453,864 สัญญา

แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ
  ราคาน้ำมันปิดตลาดวันศุกร์ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 ส่งผลให้ราคา ICE Brent แตะระดับสูงสุดตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. 61 และ NYMEX WTI สูงสุดตั้งแต่วันที่ 7 มี.ค. 61 เนื่องจากนักลงทุนตอบรับคาดการณ์อุปสงค์ปี พ.ศ. 2561 ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามแนวโน้มการผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดรายงานแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 800 แท่น ด้านความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ ความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างซาอุดิอาระเบียและอิหร่านมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลังมกุฎราชกุมารแห่งซาอุดิอาระเบียเจ้าชาย Mohammed bin Salman ให้สัมภาษณ์ในรายการ 60 Minutes ของสหรัฐฯ โดยเจ้าชาย Mohammed bin Salman เปรียบ Ayatollah Ali Khamenei ผู้นำสูงสุดของอิหร่านเสมือน Adolf Hitler โดยต้องการเป็นผู้นำเผด็จการในตะวันออกกลาง นอกจากนี้ สงครามในซีเรียทวีความรุนแรงเข้าขั้นวิกฤต โดยบริเวณเขต Ghouta ใกล้กรุง Damascus เกิดเหตุโจมตีระหว่างรัฐบาลซีเรียซึ่งมีรัสเซียและอิหร่านให้การสนับสนุน กับกลุ่มกบฏซึ่งมีซาอุดิอาระเบียและสหรัฐฯ ให้การสนับสนุน ส่งผลให้ประชาชนต้องอพยพออกจากพื้นที่ อีกทั้งบริเวณเมือง Afrin ชายแดนตุรกีและซีเรีย กองกำลังตุรกีเข้าโจมตีกลุ่มชาวเคิร์ดในซีเรีย ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 27 คน และมีผู้อพยพออกจากพื้นที่กว่า 25,000 คน ให้จับตาความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย กับประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และประเทศในแถบยุโรป ล่าสุดกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียประกาศจะตอบโต้การคว่ำบาตร โดยการขับไล่นักการทูตอังกฤษจำนวน 23 คนออกจากรัสเซีย และตอบโต้ข้อกล่าวหาว่ารัสเซียวางยาพิษอดีตสายลับชาวรัสเซียและบุตรสาวในประเทศอังกฤษ ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 64.0-68.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 60.5-64.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล  ราคาน้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 60.0-64.0เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

 สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
            ราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินรายสัปดาห์ลดลงจาก โรงกลั่นน้ำมัน Hainan (กำลังการกลั่น 184,000 บาร์เรลต่อวัน) ของบริษัท Sinopec ตั้งเป้าส่งออกน้ำมันเบนซินเดือน มี.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 33% มาอยู่ที่ 5.1 ล้านบาร์เรล เนื่องจากอุปสงค์ในประเทศเบาบางตามยอดขายรถยนต์ที่ลดลงโดย China Association of Automobile Manufacturing (CAAM) รายงานยอดขายรถยนต์ เดือน ก.พ. 61 ลดลงจากปีก่อน 11.1 % อยู่ที่ 1.7 ล้านคัน ด้านปริมาณสำรอง International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 14 มี.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 290,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 14.87 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 3 เดือนครึ่ง และ Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่ญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 10 มี.ค.61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 100,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 10.7 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตามอุปสงค์น้ำมันเบนซินในหลายประเทศแข็งแกร่ง อาทิสหรัฐฯ โดย EIA รายงานความต้องการใช้น้ำมันเบนซิน ในช่วง 4 สัปดาห์ สิ้นสุดวันที่ 9 มี.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.5% มาอยู่ที่ 9.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดในรอบ 7 เดือน และ Petroleum Planning and Analysis Cell (PPAC) ของอินเดียรายงานอุปสงค์น้ำมันเบนซินเดือน ก.พ. 61 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 50,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 630,000 บาร์เรลต่อวัน และ Korea Energy Economics Institute (KEEI) ของเกาหลีใต้ คาดความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปในปี พ.ศ. 2561จะเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.0% จากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวและความต้องการใช้จากภาคปิโตรเคมีอยู่ในระดับสูง KEEI  คาดความต้องการใช้ Naphtha จะเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3.3% มาอยู่ที่ 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ  74.0-78.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
            PPAC ของอินเดียรายงานยอดขายน้ำมันดีเซล ในเดือน ก.พ. 61 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 10,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 1.75 ล้านบาร์เรลต่อวัน และ โรงกลั่นน้ำมัน Kawasaki (กำลังการกลั่น 235,000 บาร์เรลต่อวัน) ของ JXTG Nippon Oil & Energy Corp. ในญี่ปุ่น ปิดซ่อมบำรุงหน่วยกลั่นน้ำมันดิบ (Crude Distillation Unit: CDU กำลังการกลั่น 65,000 บาร์เรลต่อวัน) ตามแผน ตั้งแต่วันที่ 10 มี.ค. 61 จนถึงต้น เม.ย. 61 ด้านปริมาณสำรองน้ำมัน IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 14 มี.ค. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 370,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 8.96 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์ และ PAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่ญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 10 มี.ค. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 400,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 7.5 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตามสำนักงานสถิติแห่งชาติของมาเลเซียรายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดีเซล เดือน ก.พ. 61 อยู่ที่ 258,000 บาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 4.5 %  (มาเลเซียมีโรงกลั่นในประเทศ 5 แห่ง กำลังการกลั่นรวม 560,000 บาร์เรลต่อวัน) และ กระทรวงพลังงานของไต้หวันรายงานปริมาณการส่งออกดีเซล เดือน ม.ค. 61 เพิ่มจากเดือนก่อน 24.4 % อยู่ที่ระดับ 6.68 ล้านบาร์เรล ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซล จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 75.5-79.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 19 มี.ค. 2561 เวลา : 16:43:38

24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 8:13 pm