ภาวะตลาดวันที่ 10 เมษายน 2561 ราคาทองคำแกว่งตัวในกรอบที่ระดับ 1,330.90-1,338.20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ขณะที่ราคาทองคำแท่ง 96.5% ภายในประเทศขายออกอยู่ที่ 19,800 บาทต่อบาททองคำ โดยราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น 100 บาท จากวันก่อนหน้าที่ระดับ 19,700 บาทต่อบาททองคำ ขณะที่โกลด์ฟิวเจอร์ส GFJ18 อยู่ที่ 19,820 บาท โดยราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น 70 บาท จากวันก่อนหน้าที่ระดับ 19,750 บาท
(หมายเหตุ: ข้อมูลนี้จัดทำขึ้น ณ เวลา 15.28 น. ของวันที่ 10/04/61)
แนวโน้มวันที่ 11 เมษายน 2561
การกล่าวสุนทรพจน์ของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง แห่งประเทศจีน ในการประชุม Boao Forum for Asia (BFA) ประจำปี โดยจีนให้คำมั่นว่าจะลดภาษีนำเข้าผลิตภัณฑ์ต่างๆ รวมถึง รถยนต์ และกล่าวแบบอ้อมๆต่อความกังวลบางส่วนที่มีต่อสหรัฐ ขณะเดียวกันได้ประกาศเปิดตลาดจีนต่อนักลงทุนต่างชาติ ถ้อยแถลงดังกล่าว ช่วยผ่อนคลายความกังวลเกี่ยวกับความตึงเครียดเรื่องความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน กระตุ้นให้ดัชนีดอลลาร์เมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินสำคัญ 6 สกุล ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับ สัญญาล่วงหน้าตลาดหุ้นสหรัฐ, หุ้นเอเชีย และ สินทรัพย์เสี่ยงอื่นๆ ความตึงเครียดทางการค้าที่ลดลงเป็นสิ่งที่ดีสำหรับการค้าทั่วโลก, การขยายตัวทางเศรษฐกิจ และความต้องการเสี่ยง จนทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยถูกลดความน่าสนใจลง ทั้งนี้ ข้อมูลจากบริษัท GFMS ซึ่งเป็นที่ปรึกษาด้านโลหะมีค่า และดีลเลอร์ธนาคารแสดงว่า การนำเข้าทองของอินเดียในเดือนมี.ค.ลดลงครึ่งหนึ่งจากปีก่อน สู่ 52.5 ตัน ในขณะที่การทะยานขึ้นของราคาในประเทศสู่จุดสูงสุดรอบ 16 เดือน บั่นทอนอุปสงค์ในอินเดีย ซึ่งเป็นผู้อุปโภคทองรายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก ซึ่งสร้างมุมมองเชิงลบต่อราคาทองคำ อย่างไรก็ตาม การเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียของสหรัฐส่งผลกระทบต่อค่าเงินรูเบิลของรัสเซียร่วงลงรุนแรงที่สุดรายวันในรอบ 3 ปี การคว่ำบาตรรอบใหม่ของสหรัฐที่เล็งเป้าหมายไปที่ผู้มีอิทธิพลรายใหญ่ที่สุดบางรายของรัสเซีย รวมทั้งสหรัฐพยายามจะเรียกร้องให้มีการลงมติในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติสำหรับการสอบสวนการใช้อาวุธเคมีในซีเรีย หลังจากที่มีรายงานการโจมตีด้วยก๊าซพิษต่อเมืองฐานที่มั่นของกลุ่มกบฏ เบื้องต้นวายแอลจียังคงให้จับตาราคาทองคำบริเวณ 1,348 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หากราคายังไม่สามารถปรับตัวขึ้นยืนเหนือโซนนี้ คาดการณ์ว่าราคาทองคำจะค่อย ๆ อ่อนตัวลงมา โดยประเมินแนวรับไว้ในบริเวณ 1,320 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และหากแนวรับนี้ไม่สามารถรับได้ นักลงทุนต้องระมัดระวังแรงขายทำกำไรออกมา
กลยุทธ์การลงทุน ทางวายแอลจีมีมุมมองว่า หากราคาทองคำขึ้นทดสอบแนวต้านบริเวณที่ 1,348 ดอลลาร์ต่อออนซ์ นักลงทุนที่สะสมทองคำไว้อาจมีการขายทำกำไรบางส่วนออกมาบ้าง หรือถ้าราคาสามารถผ่านไปได้ให้นักลงทุนที่รับความเสี่ยงสูงได้แนะนำให้ถือต่อไป เพื่อไปขายทำกำไรที่แนวต้านถัดไป และหากราคาทองคำมีการปรับตัวลดลงมาไม่หลุดแนวรับ แนะนำนักลงทุนสามารถเก็งกำไร โดยเน้นไปที่การลงทุนระยะสั้น ทั้งนี้ประเมินแนวรับไว้ที่ 1,320 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยมีแนวรับถัดไปอยู่ที่ 1,313 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งนักลงทุนควรตั้งจุดตัดขาดทุนเพื่อควบคุมความเสี่ยง
ทองคำแท่ง (96.50%)
แนวรับ 1,320 (19,450บาท) 1,313 (19,350บาท) 1,306 (19,250บาท)
แนวต้าน 1,348 (19,900บาท) 1,356 (20,050บาท) 1,365 (20,150บาท)
GOLD FUTURES (GFJ18)
แนวรับ 1,320 (19,590บาท) 1,313 (19,490บาท) 1,306 (19,380บาท)
แนวต้าน 1,348 (20,000บาท) 1,356 (20,130บาท) 1,365 (20,270บาท)
ข่าวเด่น