แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (14 – 18 พ.ค. 61 )
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับสูง หลังได้รับแรงหนุนจากความตึงเครียดที่ปะทุขึ้นหลังทรัมป์ตัดสินใจให้สหรัฐฯออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์และดำเนินการคว่ำบาตรอิหร่านอีกครั้ง ส่งผลให้มีแนวโน้มที่อุปทานน้ำมันจะตึงตัวมากขึ้น นอกจากนี้ผู้ผลิตน้ำมันในกลุ่มโอเปกได้ปรับลดกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้น้ำมันดิบคงคลังของโลกปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันจากการปรับเพิ่มกำลังการผลิตในสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นมากว่า 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากต้นปีที่ผ่านมา
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
ตลาดน้ำมันดิบมีแนวโน้มตึงตัวมากขึ้น หลังสหรัฐฯ ถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์ของอิหร่านและมีการบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจในระดับสูงสุดต่ออิหร่านอีกครั้ง กระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ออกมาชี้แจงว่าการคว่ำบาตรจะยังไม่ได้มีผลบังคับใช้ทันที แต่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในอีก 180 วันข้างหน้า จึงจะเริ่มส่งผลกระทบต่อปริมาณส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่าน ในขณะนี้นักวิเคราะห์คาดปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านจะปรับลดลงราว 300,000 – 1,000,000 บาร์เรลต่อวัน โดยขนาดของผลกระทบจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับว่าประเทศต่างๆ จะดำเนินการตามมาตรการของสหรัฐฯ มากน้อยเพียงใด โดยบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และยุโรป คาดจะดำเนินการตามสหรัฐฯ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการเผชิญหน้ากับสหรัฐฯ ซึ่งอาจจะนำไปสู่บทลงโทษจากการคว่ำบาตรทางการเงินของสหรัฐฯ ได้
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดจะปรับลดลงต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อนหน้า หลังโรงกลั่นน้ำมันมีแนวโน้มเพิ่มกำลังการกลั่นเพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้น รวมถึง โรงกลั่นบางส่วนที่มีการปิดซ่อมบำรุงฉุกเฉินไปในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาคาดจะกลับมาดำเนินการได้ตามปกติ นอกจากนี้ ปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบของสหรัฐฯ คาดจะยังคงอยู่ในระดับจำกัด โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 4 พ.ค. ปรับลดลง 2.2 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 433.8 ล้านบาร์เรล ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะปรับลดลง 0.7 ล้านบาร์เรล
ผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกยังคงเดินหน้าปรับลดกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง โดยระดับความร่วมมือของกลุ่มโอเปกแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือน เม.ย. นี้ นำโดยเวเนซุเอลาที่ปริมาณการผลิตลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 33 ปี และอิรักที่ปริมาณการผลิตปรับลดลง เนื่องจากมีปัญหาทางเทคนิคในการขนส่งและลำเลียงน้ำมันดิบ ซึ่งส่งผลให้ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังทั่วโลกปรับลดลงมาใกล้เคียงกับระดับค่าเฉลี่ย 5 ปีซึ่งเป็นเป้าหมายของกลุ่มโอเปก ซึ่งนับเป็นการลดลงอย่างมากจากเดือน ม.ค. 60 ที่ราว 340 ล้านบาร์เรลเหนือค่าเฉลี่ย 5 ปี
จับตาสถานการณ์ในเวเนซุเอลา หลังจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีใหม่ในวันที่ 20 พ.ค. นี้ ซึ่งคาดว่านายนิโคลัส มาดูโร จะยังคงได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งส่งผลให้สหรัฐฯ มีแนวโน้มออกมาตรการคว่ำบาตรเวเนซุเอลาเพิ่มเติมจากเดิมที่เคยออกมาตรการคว่ำบาตรรายบุคคลในช่วงที่ผ่านมา โดยผลกระทบดังกล่าวคาดจะทำให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของเวเนซุเอลามีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง เนื่องจากการลงทุนในอุตสาหกรรมน้ำมันของเวเนซุเอลาปรับลดลงต่อเนื่องหลังไม่สามารถเข้าระดมเงินทุนได้ โดยปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของเวเนซุเอลา ในเดือน มี.ค. ปรับลดลงมาแตะระดับต่ำสุดในรอบ 33 ปีที่ราว 1.49 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งปรับลดลงค่อนข้างมากจากปีก่อนหน้าที่ระดับ 2.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นส่งผลให้ผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ เพิ่มการขุดเจาะน้ำมันดิบขึ้นต่อเนื่องมาสู่ระดับสูงในรอบ 3 ปีที่ 834 แท่น ซึ่งนับเป็นการปรับเพิ่มขึ้นเป็น สัปดาห์ที่หกติดต่อกัน โดยปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 27 จากกลางปี 2559 ขึ้นมาแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 10.7 ล้านบาร์เรลต่อวันและคาดจะปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงกว่าระดับ 11 ล้านบาร์เรลต่อวันภายในสิ้นปีนี้
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดค้าปลีกจีน ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมจีน GDP ไตรมาส 1 ของยูโรโซน ยอดค้าปลีกสหรัฐฯ และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานสหรัฐฯ
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา ( 7 – 11 พ.ค. 61)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.98 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 70.70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 2.25 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 77.12 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 74.28 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังสหรัฐฯ ประกาศถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์ ส่งผลให้ความตึงเครียดในตะวันออกกลางเข้มข้มขึ้นอีกครั้ง โดยตลาดคาดกำลังการส่งออกของอิหร่านจะได้รับผลกระทบจากการคว่ำบาตรครั้งใหม่จากสหรัฐฯ และจะส่งผลให้อุปทานน้ำมันตึงตัวมากขึ้น
ข่าวเด่น