แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (11 – 15 มิ.ย. 61)
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวลดลง จากความเป็นไปได้ที่ผู้ผลิตกลุ่มโอเปกจะเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อชดเชยอุปทานน้ำมันที่ขาดหายไปจากอิหร่าน และเวเนซุเอลา นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันจากปริมาณการผลิตน้ำดิบและปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบคาดว่าจะได้รับแรงหนุนจากปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของเวเนซุเอลาที่มีแนวโน้มปรับลดลง หลังเวเนซุเอลาอาจประกาศเหตุสุดวิสัยในการส่งออกน้ำมันดิบ
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
? จับตาท่าทีของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกเกี่ยวกับมาตรการปรับลดกำลังการผลิตเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน หลังมาตรการดังกล่าวมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลง เนื่องจากผู้ผลิตอาจเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อชดเชยอุปทานที่ขาดหายไปจากอิหร่าน และเวเนซุเอลา และล่าสุดรัฐมนตรีกระทรวงน้ำมันของอินเดียเผยว่าประเทศกลุ่มโอเปก นำโดยซาอุดิอาระเบีย กำลังพิจารณาและทบทวนมาตรการปรับลดกำลังการผลิตอีกครั้ง โดยจะมีการหารือในการประชุมของกลุ่มโอเปกในวันที่ 22-23 มิ.ย. นี้
? กำลังการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังราคาน้ำมันดิบยืนอยู่เหนือต้นทุนการผลิตน้ำมันดิบเฉลี่ยของสหรัฐฯ โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐ (EIA) รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันของสหรัฐ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 1 มิ.ย. 61 ปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 10.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ หรือปรับตัวเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 28 ในช่วงสองปีผ่านมา
? ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในเดือนเม.ย. 61 แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1.76 ล้านบาร์เรลต่อวัน และคาดว่าจะทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง หลังส่วนต่างระหว่างราคาน้ำมันดิบเบรนท์ และเวสต์เท็กซัสสูงกว่า 11 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค. 58 เนื่องจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดานของสหรัฐฯ (Shale Oil) ปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ยังคาดว่า ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นราว 3.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในอีก 5 ปีข้างหน้า
? เวเนซุเอลาอาจประกาศเหตุสุดวิสัย (Force Majeure) ในการส่งออกน้ำมันดิบ เพื่อให้สามารถหยุดส่งน้ำมันดิบชั่วคราวให้กับผู้ซื้อรายหลักที่ทำสัญญาน้ำมันดิบไว้ หลังปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของประเทศปรับลดลงอย่างรวดเร็วในปี 61 โดยล่าสุดมีรายงานว่า เรือจำนวนมากมารอรับน้ำมันดิบกว่า 24 ล้านบาร์เรล ที่ท่าเรือหลักของเวเนซุเอลา
? ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิตและดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐฯ จีดีพีจีนไตรมาส 1/2561 ยอดค้าปลีกจีน และยอดค้าปลีกสหรัฐฯ
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา ( 4 – 8 มิ.ย. 61)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลง 0.07 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 65.47 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 0.32 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 76.47 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 74 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังได้รับแรงกดดันจากความกังวลว่าผู้ผลิตในกลุ่มโอเปกและรัสเซียจะเพิ่มกำลังการผลิตราว 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพื่อชดเชยอุปทานที่ขาดหายไปจากปัญหาทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ทั้งในอิหร่าน และเวเนซุเอลา นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ปรับเพิ่มขึ้นราว 2.1 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 436.6 ล้านบาร์เรล ซึ่งสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลง ประกอบกับปริมาณการผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นราว 31,000 บาร์เรลต่อวัน แตะระดับ 10.80 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ข่าวเด่น