ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ปตท.รายงานสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ 4-8 มิ.ย. 61 และแนวโน้มสัปดาห์ที่ 11-15 มิ.ย. 61


 ราคาน้ำมันเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลงทุกชนิด โดยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 0.55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 75.96 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI)  ลดลง 1.61  เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 65.34 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai)  ลดลง 0.29 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 74.03 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 1.72 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 85.53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลลดลง 1.47  เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 88.53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
    ประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯ ตอบโต้การเก็บภาษีเหล็กและอลูมิเนียมของสหรัฐฯ อาทิ เม็กซิโก โดยกำหนดภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ รวมมูลค่ากว่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ สหภาพยุโรป (EU) เตรียมตั้งกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ 25% สำหรับสินค้า อาทิ น้ำส้มคั้น วิสกี้เบอร์เบิ้น ยีนส์ จักรยานยนต์ เป็นต้น รวมมูลค่ากว่า 2.8 พันล้านยูโร (3.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) มีผลเดือน ก.ค. 61 ทั้งนี้การเก็บภาษีสำหรับการค้าระหว่างประเทศจุดชนวนสงครามการค้าที่อาจกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและส่งผลลบต่ออุปสงค์น้ำมัน
      Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 1 มิ.ย. 61 เพิ่มขึ้นสัปดาห์ก่อน  2.1 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 436.6 ล้านบาร์เรล และปริมาณการผลิตน้ำมันดิบที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด วันที่ 1 มิ.ย. 61 ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ 10.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน
    Census of Bureau ของสหรัฐฯ รายงานปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบ ในเดือน เม.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 90,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 1.76 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากปริมาณส่งออกไปยังอิตาลีและเนเธอร์แลนด์เพิ่มขึ้นมาก
    Baker Hughes Inc. บริษัทลูกของ General Electric Co. รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบ (Rig) ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 8 มิ.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1 แท่น มาอยู่ที่ 862 แท่น เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 3 สัปดาห์ สู่ระดับสูงสุดตั้งแต่ เดือน มี.ค. 58
    InterContinental Exchange (ICE) รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ Brent ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า ICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุด 5 มิ.ย. 61 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับสถานะถือครองสุทธิ (Net Long Position) ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 13,810 สัญญา อยู่ที่ 438,186 สัญญา
    CFTC รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า NYMEX ที่นิวยอร์กและ ICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุด 5 มิ.ย. 61 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับ Net Long Position ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 18,839 สัญญา อยู่ที่ 352,140 สัญญา

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
    บริษัทน้ำมันแห่งชาติเวเนซุเอลา PDVSA ประสบปัญหาส่งออกน้ำมันที่ท่า Jose ล่าช้า ปัจจุบันมีเรือบรรทุกน้ำมันกว่า 80 ลำ คอยเทียบท่า ซึ่ง PDVSA เสนอวิธีใช้เรือเล็กสูบถ่ายน้ำมันจากท่าไปสู่เรือบรรทุกน้ำมัน            (Ship-to-Ship - STS) โดย PDVSA จะเป็นผู้รับภาระค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี  ผู้ซื้อน้ำมันเสียเวลามากขึ้นในการรับน้ำมันเป็นอุปสรรคต่อการส่งออก Reuters ประเมินปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของ PDVSA ในช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย. 61 ลดลงจากปีก่อน 28% มาอยู่ที่ 1.19 ล้านบาร์เรลต่อวัน
    รัฐมนตรีว่าการกระทรวงน้ำมันของอิรัก นาย Jabar al-Luaibi กล่าวว่าการประชุมสามัญ OPEC ในวันที่ 22-23 มิ.ย. 61 จะไม่มีการหารือในประเด็นการเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ  ตามที่รัฐบาลสหรัฐฯ เรียกร้องเนื่องจากขณะนี้ตลาดมีเสถียรภาพดีและราคาอยู่ในระดับที่เหมาะสม
    Reuters ประเมินกลุ่ม OPEC ผลิตน้ำมันดิบ ในเดือน พ.ค. 61 ลดลงจากจากเดือนก่อน 70,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 32.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่ำสุดตั้งแต่ เม.ย. 60 และอัตราความร่วมมือการลดปริมาณการผลิต (Compliance Rate ของ 12 ประเทศ) อยู่ที่ 163 %

แนวโน้มราคาน้ำมัน
           ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงโดยได้รับแรงกดดันจากสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มผลิตน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น ล่าสุด Baker Hughes รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบ (Rig) ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 8 มิ.ย. 61 อยู่ที่ 862 แท่น สูงสุดตั้งแต่เดือน มี.ค. 58 ทั้งนี้ EIA รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 1 มิ.ย. 61 เพิ่มสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 10.80 ล้านบาร์เรลต่อวัน  เพิ่มขึ้นถึง 13.8% หรือ 1.31 ล้านบาร์เรลต่อวัน  ในระยะเวลา 6 เดือน ขณะที่รัสเซียเร่งผลิตน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นในช่วงสัปดาห์แรกของเดือน มิ.ย. 61 ที่ 11.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงกว่าปริมาณตามข้อตกลงกับกลุ่มผู้ผลิต OPEC และ Non-OPEC  ซึ่ง รัสเซียจะผลิตน้ำมันที่ระดับ  10.95 ล้านบาร์เรลต่อวัน จนถึงสิ้นปี พ.ศ. 2561 อย่างไรก็ตาม Platts รายงานปริมาณส่งมอบน้ำมันดิบ Forcados ของไนจีเรีย เดือน มิ.ย. 61 ลดลงจากเดือนก่อน 56,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ระดับ 226,000 บาร์เรลต่อวัน เนื่องจากท่อขนส่งน้ำมันรั่วไหล และบริษัทที่ปรึกษา  GlobalData ระบุปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของเวเนซุเอลาลดลงราวไตรมาสละ 10 % ตั้งแต่กลางปี พ.ศ. 2560 และระบุว่าอุปทานน้ำมันดิบอาจลดลงอีก 500,000 บาร์เรลต่อวัน ลงมาอยู่ที่ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในปลายปีนี้ เพราะข้อจำกัดเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานทั้งการผลิตและส่งออก รวมทั้งมาตรการคว่ำบาตรห้ามสถาบันการเงินซื้อพันธบัตรของเวเนซุเอลาบั่นทอนสถานะทางการเงินของประเทศ ให้ติดตามการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ  (FED) ในวันที่ 12-13 มิ.ย.นี้ ที่นักวิเคราะห์คาดว่า FED จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ  1.75-2.0% หลังตัวเลขการจ้างงานและค่าจ้างแรงงานสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง  ด้าน  JP Morgan ปรับลดประมาณการณ์ราคาน้ำมันดิบ WTI ในปี พ.ศ. 2561 ลง 3 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล  มาอยู่ที่ 62.20 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล  ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 74.0-78.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 64.0-68.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล  และราคาน้ำมันดิบ Dubai  จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 72.0-76.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
          ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลง บริษัท Formosa Petrochemical Corp. ของไต้หวันประมูลขาย น้ำมันเบนซิน 93 RON ปริมาณ 500,000 บาร์เรล  ส่งมอบ 25-29 ก.ค. 61 และโรงกลั่น Deer Park (กำลังการกลั่น 325,000 บาร์เรลต่อวัน) ในมลรัฐเท็กซัส ของสหรัฐฯ กลับมาเดินเครื่องหน่วย Fluidic Catalytic Cracking (กำลังการผลิต 70,000 บาร์เรลต่อวัน) ในวันที่ 9 มิ.ย. 61 หลังปิดซ่อมแซมท่อรั่วตั้งแต่ วันที่ 4 มิ.ย. 61 ด้านปริมาณสำรอง EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 1 มิ.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 4.6 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 239 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 2 เดือน และสำนักข่าว Xinhua รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซิน เชิงพาณิชย์ในจีน เดือน เม.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 5 % อยู่ที่ 77.1 ล้านบาร์เรล สูงสุดเป็นประวัติการณ์ตั้งแต่เริ่มเผยแพร่ข้อมูลในปี พ.ศ. 2553 อย่างไรก็ตามอุปสงค์น้ำมันเบนซิน ในจีนมีแนวโน้มแข็งแกร่ง โดย China Association of Automobile Manufacturers ของจีนรายงานยอดขายรถยนต์ เดือน เม.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 11.16 %   และ Platts คาดการณ์ปริมาณนำเข้าน้ำมันเบนซินของอินโดนีเซีย เดือน มิ.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1.5 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 12.0 ล้านบาร์เรล เพื่อรองรับเทศกาลเฉลิมฉลองหลังสิ้นสุดการถือศีลอด (ปริมาณนำเข้าเดือน ก.ค. 61 มีแนวโน้มลดลงสู่ระดับ 10 ล้านบาร์เรล เพราะสิ้นสุดช่วงเทศกาลทำให้ความต้องการใช้น้ำมันลดลง) ด้านปริมาณสำรอง International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 6 มิ.ย. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 530,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 14.00 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์ ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซิน จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 83.0-87.0  เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
                ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลงจาก Platts รายงานอินเดียส่งออกน้ำมันดีเซล ปริมาณกำมะถัน 0.05% มากขึ้น เนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูมรสุมทำให้การผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนเพิ่มขึ้น ลดความต้องการใช้น้ำมันดีเซล ด้านปริมาณสำรอง  EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 1 มิ.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 2.2 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 116.8 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 1 เดือน และ IES รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 6 มิ.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 480,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 7.71 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์  อย่างไรก็ตาม บริษัท Pertamina ของอินโดนีเซียออกประมูลซื้อน้ำมันดีเซล ปริมาณกำมะถัน 0.25 % ปริมาณรวม 1.4 ล้านบาร์เรล ส่งมอบ 25 มิ.ย.- 1 ก.ค. 61 และ สำนักข่าว Xinhua รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ในจีน เดือน เม.ย. 61 ลดลงจากเดือนก่อน 11 % อยู่ที่ 67.8 ล้านบาร์เรล ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซล จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ  87.0-91.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 11 มิ.ย. 2561 เวลา : 16:32:22

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 4:06 am