ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังกลุ่มโอเปกอาจปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้อยกว่าที่คาดไว้
+ ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้นท่ามกลางการซื้อขายที่ผันผวน หลังตลาดมองว่ากลุ่มผู้ผลิตน้ำมันดิบนำโดยกลุ่มโอเปกอาจปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้อยกว่าที่คาดไว้ในการประชุมโอเปกวันที่ 22 มิ.ย. นี้ โดยล่าสุดนักวิเคราะห์คาดว่าผู้ผลิตอาจจะปรับเพิ่มกำลังการผลิตประมาณ 0.3 - 0.6 ล้านบาร์เรล ซึ่งน้อยกว่าที่คาดไว้ว่าจะมีการปรับเพิ่มขึ้นราว 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่ตลาดยังคงจับตาและประเมินผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่ระอุขึ้นในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา
-/+ นายคารอส เปเรซ รัฐมนตรีกระทรวงน้ำมันของเอกวาดอร์ระบุว่ารัสเซียและซาอุดิอาระเบียเตรียมยื่นข้อเสนอที่จะปรับเพิ่มกำลังการผลิตราว 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในการประชุมโอเปกนี้ โดยจะพิจารณาปรับกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากโควตาการผลิตของแต่ละประเทศที่ได้ตกลงกันไว้ก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม อิรักและอิหร่านไม่เห็นด้วยที่กลุ่มผู้ผลิตจะออกนโยบายเพิ่มกำลังการผลิต เนื่องจากถือเป็นการฉีกข้อตกลงที่จะปรับลดกำลังการผลิตไปจนถึงสิ้นปี 2561
+ Goldman Sachs คาดการณ์ว่าตลาดน้ำมันดิบจะอยู่ในภาวะขาดดุลในปีนี้ จากแรงหนุนของอุปสงค์ที่แข็งแกร่งและอุปทานที่หายไปจากเวเนซุเอลาและอิหร่าน ซึ่งจะหักล้างผลของการปรับเพิ่มกำลังการผลิตของกลุ่มผู้ผลิตน้ำมัน โดยราคาน้ำมันจะดีดตัวสู่ระดับสูงสุดที่ 82.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลภายในช่วงไตรมาส 3 นี้ และอยู่ที่ระดับราว 75 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในช่วงปลายปีนี้
- สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) คาดการณ์ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากหินชั้นดินดาน (Shale oil) ของสหรัฐฯ ในเดือน ก.ค. จะปรับเพิ่มขึ้นราว 0.14 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากเดือนก่อนหน้า สู่ระดับ 7.34 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยการปรับขึ้นส่วนใหญ่มาจากแหล่งการผลิต Permian ซึ่งคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 3.35 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ดี การปรับเพิ่มขึ้นของปริมาณการผลิตใน Permian ยังคงเผชิญกับข้อจำกัดด้านโครงสร้างพื้นฐานในการขนส่งน้ำมันดิบทางท่อ
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากตลาดได้รับแรงกดดันจากอุปทานที่ยังคงอยู่ในระดับสูง สะท้อนได้ จากน้ำมันเบนซินคงคลังของยุโรปที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 7 สัปดาห์
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ โดยตลาดได้รับแรงกดดันจากอุปทานน้ำมันสำเร็จรูปที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากโรงกลั่นในภูมิภาคเริ่มกลับมาดำเนินการตามปกติ หลังสิ้นสุดฤดูปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น ประกอบกับได้รับแรงกดดันจากอุปสงค์ในภูมิภาคที่อ่อนตัว
ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 62-67 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 72-77 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
จับตาท่าทีของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกเกี่ยวกับมาตรการปรับลดกำลังการผลิตเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน หลังมาตรการดังกล่าวมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลง เนื่องจากผู้ผลิตอาจเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อชดเชยอุปทานที่หายไปจากอิหร่าน และเวเนซุเอลา โดยจะมีการหารือในการประชุมของกลุ่มโอเปกวันที่ 22 - 23 มิ.ย. นี้
ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังราคาน้ำมันดิบอยู่เหนือระดับต้นทุนการผลิตน้ำมันดิบเฉลี่ยของสหรัฐฯ โดยล่าสุดสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐ (EIA) คาดการณ์ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในปี 2562 จะขยายตัวราว 0.97 ล้านบาร์เรลต่อวัน สู่ระดับเฉลี่ย 11.76 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะทรงตัวอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง หลังส่วนต่างระหว่างราคาน้ำมันดิบเบรนท์ และเวสต์เท็กซัสปรับเพิ่มขึ้นสูงมากกว่า 10 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบมากกว่า 1 ปี อาจโน้มน้าวให้ผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ มีแรงจูงใจที่จะปรับเพิ่มการส่งออกสู่ตลาดโลกมากขึ้น
ดัชนีและราคาที่สำคัญ
ข่าวเด่น