แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (25 – 29 มิ.ย. 61) ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวลดลง หลังการประชุมโอเปกในวันที่ 22-23 มิ.ย. กลุ่มผู้ผลิตปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบขึ้น 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากเดิมที่ปรับลดลงกว่า 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากกำลังการผลิตของสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องใกล้ระดับ 11 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้ในการส่งออกน้ำมันดิบสหรัฐฯ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 0.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน แตะระดับ 2.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน รวมถึงจีนที่อาจจะเพิ่มภาษีนำเข้าน้ำมันดิบจากสหรัฐฯ ขึ้นกว่าร้อยละ 25 ซึ่งอาจส่งผลต่อให้สหรัฐฯ ต้องหาแหล่งส่งออกใหม่ อย่างไรก็ตาม ราคายังได้รับแรงหนุนจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียที่ปรับลดลงกว่า 0.4 ล้านบาร์เรลต่อวันจากสัปดาห์ก่อนหน้า หลังคลังน้ำมันดิบในบริเวณท่าเรือ Ras Lanuf และ Es Sider ได้ถูกทำลายจากการต่อสู้ระหว่างกองทัพแห่งชาติของลิเบีย (Libyan National Army) และกลุ่มติดอาวุธ ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้: ? ในการประชุมโอเปกในวันที่ 22-23 มิ.ย. 61 ณ กรุงเวียนนา กลุ่มผู้ผลิตทั้งในและนอกโอเปกปรับเพิ่มกำลังการผลิตขึ้น 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากเดิมที่ตกลงปรับลดกำลังการผลิตลงราว 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพื่อรองรับอุปทานน้ำมันดิบที่หายไปจากเวเนซุเอลา และอิหร่านที่ปริมาณการผลิตและส่งออกคาดจะปรับลดลงหลังถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตร โดยในเดือน พ.ค. โอเปกปรับลดกำลังการผลิตสูงถึงร้อยละ 162 ของข้อตกลงการปรับลดกำลังการผลิต นอกจากนี้ในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา กลุ่มโอเปกได้ปรับลดกำลังการผลิตมากกว่าระดับที่ตกลงไว้ ? กำลังการผลิตสหรัฐฯ ได้ปรับเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่องมาแตะระดับ 10.9 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่ผ่านมา สอดคล้องกับการคาดการณ์จากนักวิเคราะห์ว่ากำลังการผลิตสหรัฐฯ จะแตะระดับ 11 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ นอกจากนี้ ปริมาณแท่นขุดเจาะสหรัฐฯ ในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 22 มิ.ย. 61 ได้ปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 3 ปีที่ 862 แท่น ? สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนคาดจะส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลก ซึ่งอาจนำไปสู่ผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมันดิบ โดยจีนประกาศจะเพิ่มภาษีนำเข้ากว่าร้อยละ 25 ของสินค้าโภคภัณฑ์ เกษตร อาหารทะเล และเครื่องยนต์จากสหรัฐฯ รวมกันเป็นมูลค่ากว่า 50 พันล้านเหรียญ ซึ่งเป็นการตอบโต้สหรัฐฯ ที่ได้เพิ่มภาษีการนำเข้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องยนต์จากจีน โดยสินค้าเกษตร เครื่องยนต์ และอาหารทะเล จะถูกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นตั้งแต่ในวันที่ 6 ก.ค. เป็นต้นไป ขณะที่สินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งอาจรวมถึงน้ำมันดิบ ยังไม่ได้มีการบังคับใช้แต่อย่างใด โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าถ้าหากจีนมีการเพิ่มภาษีนำเข้าน้ำมันดิบขึ้นถึงร้อยละ 25 จะทำให้จีนหยุดการนำเข้าทันทีเนื่องจากราคาที่สูง ส่งผลให้ สหรัฐฯ จะต้องหาแหล่งส่งออกใหม่มาทดแทน ? จับตาสถานการณ์ความไม่สงบในลิเบีย หลังเกิดเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างกลุ่มติดอาวุธและกองกำลังทหารในกองทัพแห่งชาติของลิเบีย ส่งผลให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียปรับลดลงมากถึง 400,000 บาร์เรลต่อวันและบริษัทน้ำมันแห่งชาติต้องมีการประกาศภาวะฉุกเฉิน (Force Majeure) ในการส่งออกน้ำมันดิบ เนื่องจากถังเก็บน้ำมันดิบที่ท่าเรือ Ras Lanuf และ Es Sider ซึ่งเป็นท่าเรือหลักในการส่งออกน้ำมันดิบทางฝั่งตะวันออกของประเทศ เกิดความเสียหายมากกว่าครึ่ง อย่างไรก็ตาม บริษัทน้ำมันแห่งชาติของลิเบียเตรียมที่จะส่งน้ำมันดิบไปยังท่าเรือใกล้เคียงแทน โดยปริมาณการผลิตน้ำมันดิบล่าสุดของลิเบียในเดือน พ.ค. อยู่ที่ 950,000 บาร์เรลต่อวัน ? ปริมาณการผลิตและส่งออกน้ำมันดิบจากเวเนซุเอลาและอิหร่านมีแนวโน้มปรับลดลง หลังเวเนซุเอลาประสบกับปัญหาทางเศรษฐกิจและการเงิน รวมถึงปัญหาการผิดชำระหนี้สินกับบริษัท ConocoPhillips ทำให้ถูกยึดสินทรัพย์บางส่วน จึงไม่สามารถส่งออกน้ำมันดิบผ่านท่าเรือได้ ต้องใช้การขนถ่ายระหว่างเรือแทน ทำให้ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของเวเนซุเอลาในเดือน มิ.ย. ปรับลดลงกว่าร้อยละ 32 จากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ราว 0.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งลดลงค่อนข้างมากจากปีก่อนหน้าที่ส่งออกประมาณ 1.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่ อิหร่านเผชิญกับการคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ ส่งผลให้ประเทศต่างๆ ลดการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านลงก่อนที่มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 4 พ.ย. โดยปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านในเดือน มิ.ย. ปรับลดลงกว่า 0.7 ล้านบาร์เรลต่อวันมาอยู่ที่ 1.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ? ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดจะปรับลดลงหลังความต้องการใช้น้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูร้อน รวมถึงการนำเข้าน้ำมันดิบที่คาดจะอยู่ในระดับจำกัด โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมาปริมาณน้ำมันดิบคงคลังปรับลดลงกว่า 5.9 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลง 1.9 ล้านบาร์เรล เนื่องจากโรงกลั่นเพิ่มกำลังการกลั่นมาอยู่ในระดับสูงกว่าร้อยละ 96.7 และการส่งออกน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นกว่า 0.3 ล้านบาร์เรลต่อวันจากสัปดาห์ก่อนหน้ามาสู่ระดับ 2.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ? ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดทำสั่งซื้อสินค้าคงทนสหรัฐฯ การใช้จ่ายของผู้บริโภคสหรัฐฯ GDP ไตรมาส 1/61 สหรัฐฯ และดัชนีภาคการผลิตและดัชนีภาคการบริการของจีน สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (18 – 22 มิ.ย. 61) ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.52 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 68.58 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 2.11 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 75.55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 71.60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังได้รับแรงกดดันจากผู้ผลิตทั้งในและนอกโอเปกที่ปรับเพิ่มกำลังการผลิตขึ้น 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน รวมถึงความวิตกกังวลของตลาดว่าสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน จะส่งผลกดดันต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลก หลังทั้งสองประเทศมีการประกาศเพิ่มภาษีนำเข้าสูงมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคายังได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับลดลงกว่า 5.9 ล้านบาร์เรลจากสัปดาห์ก่อนหน้า มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลง 3.0 ล้านบาร์เรล เนื่องจากโรงกลั่นเพิ่มกำลังการกลั่นขึ้นเพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้น
ข่าวเด่น