ราคาน้ำมันดิบปรับลด ขานรับการผลิตของโอเปกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
- ราคาน้ำมันดิบปรับลดลง หลังได้รับแรงกดดันจากผู้ผลิตทั้งในและนอกโอเปกที่ประกาศเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบขึ้นราว 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม ปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้นจริงคาดจะอยู่ที่ราว 600,000 - 800,000 บาร์เรลต่อวัน เนื่องจากบางประเทศมีกำลังการผลิตส่วนเหลือ (Spare Capacity) อยู่ในระดับจำกัด
- สงครามการรค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนคาดจะทวีความรุนแรงมากขึ้นและอาจส่งผลกดดันต่อเศรษฐกิจโลก หลังสหรัฐฯ เตรียมออกประกาศห้ามบริษัทที่ถือหุ้นมากกว่าร้อยละ 25 โดยจีนเข้าซื้อบริษัทเทคโนโลยีในสหรัฐฯ นอกจากนี้ สหรัฐฯ คาดจะออกมาตรการเพิ่มเติมในการห้ามส่งออกเทคโนโลยีไปยังจีน
+ อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสยังได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มตึงตัวมากขึ้น หลังคาดแคนาดาจะส่งออกน้ำมันดิบมายังสหรัฐฯ ลดลง เนื่องจากเกิดเหตุไฟฟ้าขัดข้องที่แหล่งผลิต Syncrude ซึ่งมีกำลังการผลิตสูงถึง 360,000 บาร์เรลต่อวัน ส่งผลให้ต้องหยุดดำเนินการผลิตโดยทันทีและคาดจะปิดดำเนินการต่อเนื่องจนถึงเดือน ก.ค.
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากยังคงได้รับแรงกดดันต่อเนื่องจากอุปทานในภูมิภาคที่อยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะจากจีน อย่างไรก็ตาม ราคายังได้รับแรงหนุนจากแรงซื้อของเวียดนามและอินโดนีเซียที่เพิ่มขึ้น
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากอุปทานในภูมิภาคที่เพิ่มขึ้น หลังโรงกลั่นทยอยกลับมาจากการปิดซ่อมบำรุง นอกจากนี้ ราคายังได้รับแรงกดดันจากแรงซื้อที่เบาบางลงในช่วงฤดูมรสุม
ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 66-71 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 73-78 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
ผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกเดินหน้าปรับเพิ่มกำลังการผลิตขึ้น 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพื่อรองรับอุปทานน้ำมันดิบที่หายไปจากเวเนซุเอลา และอิหร่านที่ปริมาณการผลิตและส่งออกคาดจะปรับลดลงหลังถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตร
ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังราคาน้ำมันดิบอยู่เหนือระดับต้นทุนการผลิตน้ำมันดิบเฉลี่ยของสหรัฐฯ โดยล่าสุดสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐ (EIA) คาดการณ์ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในปี 2562 จะขยายตัวราว 0.97 ล้านบาร์เรลต่อวัน สู่ระดับเฉลี่ย 11.76 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะทรงตัวอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง หลังส่วนต่างระหว่างราคาน้ำมันดิบเบรนท์ และเวสต์เท็กซัสปรับเพิ่มขึ้นสูงมากกว่า 10 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบมากกว่า 1 ปี อาจโน้มน้าวให้ผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ มีแรงจูงใจที่จะปรับเพิ่มการส่งออกสู่ตลาดโลกมากขึ้น
ดัชนีและราคาที่สำคัญ
ข่าวเด่น