WTI ขยับขึ้นสวนทาง Brent หลังอุปทานหายไปที่แคนาดา
+ ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ณ จุดส่งมอบ คุชชิ่ง โอคลาโฮมา ปรับตัวลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปีครึ่ง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการหยุดดำเนินการผลิตของแหล่ง Syncrude ประเทศแคนาดา ซึ่งมีกำลังการผลิตน้ำมันดิบ 360,000 บาร์เรลต่อวัน หลังเกิดเหตุไฟฟ้าขัดข้องตั้งแต่เดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา
- ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวลดลง จากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของซาอุดิอาระเบียและรัสเซียที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น หลังผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกตกลงที่จะปรับเพิ่มกำลังการผลิตราว 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในการประชุมช่วงปลายเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมา
- ซาอุดิอาระเบียเผยกับกลุ่มโอเปกว่าประเทศผลิตน้ำมันดิบราว 10.488 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน มิ.ย. 61 ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนที่ผ่านมาราว 458,000 บาร์เรลต่อวัน
- Baker Hughes รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบของสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 6 ก.ค. 61 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5 แท่น สู่ระดับ 863 แท่น ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาราว 100 แท่น
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวลดลงน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับแรงหนุนจากความต้องการใช้น้ำมันเบนซินทั่วโลกที่ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้ปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสิงคโปร์ สหรัฐฯ และยุโรปปรับตัวลดลง
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ในภูมิภาคและการส่งออกน้ำมันดีเซลไปยังยุโรปที่เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคายังได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังยุโรปปรับตัวเพิ่มขึ้น
ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 71-76 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 76-81 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับลดลง หลังโรงกลั่นในสหรัฐฯ ยังคงอัตราการกลั่นในระดับสูงต่อเนื่อง และล่าสุดแตะ ระดับสูงสุดในรอบ 7 ปี ประกอบกับ ปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบจากแคนาดามีแนวโน้มปรับลดลง เนื่องจากแหล่งผลิตน้ำมันดิบ Syncrude ซึ่งมีกำลังการผลิต 360,000 บาร์เรลต่อวัน ต้องหยุดดำเนินการชั่วคราวจากเหตุไฟฟ้าขัดข้อง
จับตาความเคลื่อนไหวของชาติต่างๆ ที่นำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่าน หลังสหรัฐฯ ประกาศให้ทุกประเทศหยุดนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านนับตั้งแต่เดือนพ.ย. 61 เป็นต้นไป โดยปัจจุบันอิหร่านผลิตน้ำมันดิบที่ราว 3.7-3.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน และส่งออกน้ำมันดิบราว 2.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งหลังการคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐฯ ปริมาณน้ำมันดิบในส่งดังกล่าวอาจได้รับผลกระทบ
ผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกเดินหน้าปรับเพิ่มกำลังการผลิตขึ้น 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพื่อรองรับอุปทานน้ำมันดิบที่หายไปจากเวเนซุเอลา และอิหร่านที่ปริมาณการผลิตและส่งออกคาดจะปรับลดลงหลังถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตร ซึ่งล่าสุด ซาอุดิอาระเบียมีแผนที่จะปรับเพิ่มกำลังการผลิตไปอยู่ที่ระดับ 11.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับระดับ 10.8 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนมิ.ย. 61
ดัชนีและราคาที่สำคัญ
ข่าวเด่น