แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (9 – 13 ก.ค. 61)
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัว หลังอุปทานน้ำมันดิบยังตึงตัวอย่างต่อเนื่อง จากกำลังการผลิตที่ปรับตัวลดลงของลิเบีย และอิหร่าน ประกอบกับปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง จากอัตราการกลั่นของโรงกลั่นในสหรัฐฯ ที่ยังคงอยู่ในระดับสูง และปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบจากแคนาดาที่คาดว่าจะปรับลดลง อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันจากกำลังการผลิตของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกที่คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้น หลังตกลงกันว่าจะปรับเพิ่มกำลังการผลิตราว 1.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
? ติดตามสถานการณ์ความไม่สงบในลิเบีย หลังบริษัทน้ำมันแห่งชาติของลิเบียประกาศเหตุสุดวิสัย (Force Majeure) การส่งมอบน้ำมันดิบจากท่าเรือส่งออกน้ำมัน Zueitina และ Hariga ประกอบกับ ท่าเรือส่งออกน้ำมัน Ras Lanuf และ Es Sider ที่มีการประกาศเหตุสุดวิสัยเมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 61 ยังคงไม่สามารถกลับมาดำเนินการได้ตามปกติ ส่งผลให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียอาจปรับลดลงราว 850,000 บาร์เรลต่อวัน
? จับตาความเคลื่อนไหวของชาติต่างๆ ที่นำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่าน หลังสหรัฐฯ ประกาศให้ทุกประเทศหยุดนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านนับตั้งแต่เดือนพ.ย. 61 เป็นต้นไป โดยปัจจุบันอิหร่านผลิตน้ำมันดิบที่ราว 3.7-3.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน และส่งออกน้ำมันดิบราว 2.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งหลังการคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐฯ ปริมาณน้ำมันดิบของอิหร่านดังกล่าวอาจได้รับผลกระทบ
? ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับลดลง หลังโรงกลั่นในสหรัฐฯ ยังคงอัตราการกลั่นในระดับสูงต่อเนื่อง และล่าสุดแตะระดับสูงสุดในรอบ 7 ปี ประกอบกับ ปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบจากแคนาดามีแนวโน้มปรับลดลง เนื่องจากแหล่งผลิตน้ำมันดิบ Syncrude ซึ่งมีกำลังการผลิต 360,000 บาร์เรลต่อวัน ต้องหยุดดำเนินการชั่วคราวจากเหตุไฟฟ้าขัดข้อง
? ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น หลังกลุ่มประเทศผู้ผลิตตกลงที่จะปรับเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อชดเชยอุปทานที่ขาดหายไปจากอิหร่าน และเวเนซุเอลาในการประชุมวันที่ 22-23 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยจะเริ่มเพิ่มกำลังการผลิตตั้งแต่เดือนก.ค. 61 เป็นต้นไป ซึ่งล่าสุด ซาอุดิอาระเบียมีแผนที่จะปรับเพิ่มกำลังการผลิตไปอยู่ที่ระดับ 11.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับระดับ 10.8 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนมิ.ย. 61 ขณะที่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เผยว่าจะเพิ่มกำลังการผลิตไปสู่ระดับ 3.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ภายในสิ้นปี 61 จากระดับปัจจุบันที่ผลิตอยู่ที่ 3.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ ผู้ผลิตรายใหญ่จากประเทศนอกกลุ่มโอเปกอย่างรัสเซียก็ได้ปรับเพิ่มกำลังผลิตไปอยู่เหนือระดับ 11 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน เม.ย. 60
? กำลังการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังราคาน้ำมันดิบยืนอยู่เหนือระดับจุดคุ้มทุนของผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ โดยล่าสุดสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 29 มิ.ย. 61 อยู่ที่ 10.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน และมีแนวโน้มแตะระดับ 11.0 ล้านบาร์เรลต่อวันภายในปีนี้
? ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้ผลิตและดัชนีราคาผู้บริโภคจีน ดัชนีราคาผู้ผลิตและดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐฯ และผลผลิตภาคอุตสาหกรรมยูโรโซน
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (2 – 6 ก.ค. 61)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลง 0.35 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 73.80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 2.33 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 77.11 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 74.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังได้รับแรงหนุนจากความเป็นไปได้ที่การส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านจะปรับตัวลดลงไปแตะศูนย์ เนื่องจากสหรัฐฯ แจ้งให้ประเทศต่างๆ ระงับการซื้อน้ำมันดิบจากอิหร่าน มิฉะนั้นจะถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตร นอกจากนี้ อุปทานน้ำมันดิบในช่วงนี้ค่อนข้างตึงตัว จากการปิดแหล่งผลิต Syncrude ที่แคนาดา และสถานการณ์ความขัดแย้งในลิเบีย อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันจากการเพิ่มกำลังการผลิตของซาอุดิอาระเบีย และรัสเซีย รวมถึงอุปสงค์น้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง จากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้าต่างๆ รวมถึงจีน
ข่าวเด่น