ราคาน้ำมันดิบดิ่ง หลังสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนระอุ
- ราคาน้ำมันดิบร่วง หลังตลาดกังวลเกี่ยวกับการขยายความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน โดยล่าสุดสหรัฐฯ จัดทำรายการเพื่อขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มเติมครอบคลุมสินค้ากว่า 6,000 รายการ ซึ่งจะเรียกเก็บภาษีในอัตราร้อยละ 10 รวมมูลค่า 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้การทำสงครามการค้าระหว่างประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกอาจจะส่งผลลุกลามต่อเศรษฐกิจของโลก รวมไปถึงอาจจะส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมันของโลก
- ลิเบียเตรียมประกาศที่จะเปิดดำเนินการท่าขนส่งน้ำมันดิบอีกครั้ง หลังกำลังการผลิตน้ำมันดิบในลิเบียลดลงเหลือ 527,000 บาร์เรลต่อวัน จากระดับ 1.28 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ก.พ. 61 เนื่องจากมีการโจมตีที่ท่าการส่งออกน้ำมันดิบตั้งแต่เดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา
- ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินในตะกร้าหลัก หลังตัวเลขเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้การซื้อสัญญาน้ำมันดิบปรับลดลงเนื่องจากใช้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ
+ สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สิ้นสุด ณ วันที่ 6 ก.ค. 61 ปรับลดลง 12.6 ล้านบาร์เรล ไปอยู่ที่ระดับ 405.2 ล้านบาร์เรล ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับลดลง 4.5 ล้านบาร์เรล และปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง ณ จุดส่งมอบ คุชชิ่ง โอกลาโฮม่าปรับลดลง 2.1 ล้านบาร์เรล
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันดิบดูไบ จากอุปทานในภูมิภาคที่ยังคงอยู่ในระดับสูง และอุปสงค์ถูกกดดันจากฤดูมรสุมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และน้ำท่วมในประเทศญี่ปุ่น
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับแรงกดดันจากอุปสงค์ที่ลดลงในช่วงฤดูมรสุม ประกอบกับกำลังการผลิตของโรงกลั่นน้ำมันในภูมิภาคที่ปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดีเซลยังได้รับแรงหนุนจากการส่งออกน้ำมันดีเซลจากประเทศญี่ปุ่นที่ปรับตัวลดลง
ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 68-73 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 71-76 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับลดลง หลังโรงกลั่นในสหรัฐฯ ยังคงอัตราการกลั่นในระดับสูงต่อเนื่อง และล่าสุดแตะระดับสูงสุดในรอบ 7 ปี ประกอบกับ ปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบจากแคนาดามีแนวโน้มปรับลดลง เนื่องจากแหล่งผลิตน้ำมันดิบ Syncrude ซึ่งมีกำลังการผลิต 360,000 บาร์เรลต่อวัน ต้องหยุดดำเนินการชั่วคราวจากเหตุไฟฟ้าขัดข้อง
จับตาความเคลื่อนไหวของชาติต่างๆ ที่นำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่าน หลังสหรัฐฯ ประกาศให้ทุกประเทศหยุดนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านนับตั้งแต่เดือนพ.ย. 61 เป็นต้นไป โดยปัจจุบันอิหร่านผลิตน้ำมันดิบที่ราว 3.7-3.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน และส่งออกน้ำมันดิบราว 2.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งหลังการคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐฯ ปริมาณน้ำมันดิบในส่งดังกล่าวอาจได้รับผลกระทบ
ผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกเดินหน้าปรับเพิ่มกำลังการผลิตขึ้น 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพื่อรองรับอุปทานน้ำมันดิบที่หายไปจากเวเนซุเอลา และอิหร่านที่ปริมาณการผลิตและส่งออกคาดจะปรับลดลงหลังถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตร ซึ่งล่าสุด ซาอุดิอาระเบียมีแผนที่จะปรับเพิ่มกำลังการผลิตไปอยู่ที่ระดับ 11.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับระดับ 10.8 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนมิ.ย. 61
ดัชนีและราคาที่สำคัญ
ข่าวเด่น