กลยุทธ์การลงทุน
เชื่อว่าตลาดหุ้นโลกฟื้นตัวตอบรับสงครามการค้าที่ผ่อนคลายช่วงสั้น ๆ แต่สัปดาห์นี้ให้น้ำหนักกับการประชุม FED ซึ่งน่าจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยตามแผน รวมถึง BOJ น่าจะใกล้สิ้นสุดการใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย ซึ่งจะกดดันให้อัตราแลกเปลี่ยน (FX) โลกผันผวน ส่วนในประเทศยังให้น้ำหนักต่อการรายงานงบ 2Q61 ในหุ้น Real sector กลยุทธ์ยังเน้นหุ้น Domestic (BJC, BH, DTAC, EASTW, BBL, CPF) Top pick คือ ROBINS(FV@B68)
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทยวันพฤหัสบดี…. SET ปรับตัวขึ้นต่อ
ก่อนวันหยุดยาว ตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง ปิดตลาดวันพฤหัสบดีที่ 1,701.87 จุด เพิ่มขึ้น 11.79 จุด หรือ 0.70% แต่มูลค่าการซื้อขายเบาบางกว่าวันก่อนหน้า อยู่ที่ 4.95 หมื่นล้านบาท เป็นที่สังเกตว่าการบวกขึ้นของ SET Index ถูกขับเคลื่อนหลักด้วยกลุ่มพลังงาน PTT +1.47% PTTEP +2.6% (แม้กำไรสุทธิ 2Q61 จะลดลงถึง 73.2%qoq แต่กำไรปกติยังเติบโต) ตามด้วยกลุ่มธ.พ. KBANK, SCB และวัสดุก่อสร้างนำโดย SCCC ปรับขึ้นอีก 5.78% (หลังจาก 6% ในวันก่อนหน้า) และ SCC +1.35% (ฟื้นตัวต่อเนื่องตลอดสัปดาห์) ตรงข้ามกับหุ้น CPALL ลดลง 0.65% เช่นเดียวกับ BDMS และ BH ลดลงฉุดตลาดเล็กน้อย
แนวโน้มตลาดฯ วันนี้ คาดน่าจะติดแนวต้านบริเวณ 1700-1710 จุด เชื่อว่าสะท้อนสงครามการค้าที่ผ่อนคลาย ในสัปดาห์นี้ให้น้ำหนักกับการประชุมของ BOJ และ FED ซึ่งน่าจะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยตามแผน ส่วนในประเทศยังให้น้ำหนักกับรายงานงบ 2Q61 ของหุ้น Real sector ซึ่งน่าจะมีแรงขายทำกำไรเป็นรายหุ้นที่ราคาขึ้นมามากเช่น SCC และ SCCC
Fed ยังขึ้นดอกเบี้ยตามแผน vs BOJ ใกล้สิ้นสุดการใช้ดอกเบี้ยต่ำ
สัปดาห์นี้ให้น้ำหนักการประชุมธนาคารกลางทั่วโลก ซึ่งยังเดินหน้าใช้นโยบายการเงินตึงตัว ดังนี้
30-31 ก.ค. เป็นการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่น (ทราบผลราว 10.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย) เริ่มจากญี่ปุ่น(BOJ) ตลาดเริ่มมีแนวคิดว่า BOJ อาจปรับไปใช้นโยบายการเงินตึงตัวเร็วขึ้น หลังจากที่ใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายผ่านการคงดอกเบี้ยฯ ต่ำที่ -0.1% มาตั้งแต่ พ.ย.2558 และคงวงเงิน QQE ที่ปีละ 80 ล้านล้านเยน อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์ในตลาดบางส่วนมีความเห็นขัดแย้ง เพราะเงินเฟ้อญี่ปุ่นเดือน มิ.ย. ชะลอตัวที่ 0.7% ลดลงจาก 1.0% ในเดือน เม.ย.
ตามด้วยธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) การประชุมเริ่มจาก 31 ก.ค. – 1 ส.ค. ตลาดคาดจะยังไม่ขึ้นดอกเบี้ยในรอบนี้ แต่น่าจะไปขึ้นในรอบถัดไป 25-26 ก.ย. ด้วยโอกาสที่จะเกิดขึ้น 80.3% จากแผนเดิมที่จะขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งๆละ 0.25% จากการประชุมที่เหลืออีก 4 ครั้งในปีนี้ จะทำให้ดอกเบี้ยนโยบายสิ้นปีนี้อยู่ที่ 2.25% เทียบเงินเฟ้อล่าสุด 2.9% ขณะที่ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเริ่มเห็นขัดแย้งเช่น ตลาดบ้านชะลอตัว สวนทางดัชนี PMI ที่ยังขยายตัวต่อเนื่องตามภาคการผลิต
1 ส.ค. นี้ เป็นการประชุมธนาคารกลางอินเดีย (RBI) ตลาดคาดจะขึ้นดอกเบี้ย 0.25% เป็น 6.5% หลังจากที่ได้ขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกของปีนี้ไปเมื่อ มิ.ย. เพราะเงินเฟ้อเดือน มิ.ย.ที่ 5.0%yoy (สูงกว่าเป้าที่ตั้งไว้ 4%) ซึ่งเป็นผลจากค่าเงินรูปีที่อ่อนค่า(อ่อนค่า 7.6%ytd)
และ 2 ส.ค. ประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) คาดจะขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกของปีนี้ 0.25% เป็น 0.75% เพราะเงินเฟ้อล่าสุด เดือน มิ.ย. สูงที่ 2.4% ผลจากค่าเงินปอนด์ที่อ่อนค่าราว 2.8%ytd) และ 11.7% นับตั้งแต่ Brexit เทียบกับดอกเบี้ยฯ 0.5% และอัตราการว่างงานต่ำสุดในรอบ 43 ปี
3 วันทำการที่ผ่านมา ต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นทุกแห่งในภูมิภาค
แม้ตลาดหุ้นไทยจะหยุดทำการไป 2 วัน แต่ตลาดหุ้นอื่นๆยังเปิดทำการเป็นปกติ โดยภาพรวมตั้งแต่วันที่ 26 - 30 ก.ค. 61 พบว่า ต่างชาติซื้อสุทธิหุ้นในภูมิภาครวมกัน 820 ล้านเหรียญ และเป็นการซื้อสุทธิทุกประเทศ เริ่มจากเกาหลีใต้ 426 ล้านเหรียญ รองลงมาคือ ไต้หวัน 211 ล้านเหรียญ, อินโดนีเซีย 84 ล้านเหรียญ และฟิลิปปินส์ 29 ล้านเหรียญ
ส่วนไทย ณ วันที่ 26 ก.ค. 61 ต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้น 69 ล้านเหรียญ หรือ 2.31 พันล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิเพียงวันเดียว) เช่นเดียวกับตลาดตราสารหนี้ 7.95 พันล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2) ส่วนทางด้านสถาบันในประเทศที่ซื้อสุทธิหุ้นไทยเช่นกัน 1.52 พันล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 2)
ยังมีแรงเก็งกำไรรายหุ้นงบ 2Q61 ต่อเนื่อง 3Q61
การรายงานงบ 2Q61 หุ้น real sector น่าจะต่อเนื่องถึงกลาง สิงหาคม หรือ 45 วันหลังจากสิ้นสุดไตรมาส ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมามีทยอยประกาศมาแล้วคือ PTTEP (Switch: FV@B137) พบว่ากำไรสุทธิ 2Q61 ต่ำกว่าคาด อยู่ที่ 3.6 พันล้านบาท ลดลง 73.2%qoq ซึ่งเป็นผลจากภาษีตามการแปลงสินทรัพย์เป็นเงินบาท ซึ่งมีทิศทางค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับงวด 1Q61 แต่หากพิจารณา กำไรปกติเพิ่มขึ้น 10.9%qoq จากราคาและปริมาณขายที่เพิ่มขึ้น ซึ่งสามารถหักล้าง ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นด้วย คาดว่างวด 3Q61 กำไรปกติน่าจะทรงตัวจากงวด 2Q61 เพราะราคาขายน้ำมันดิบที่ลดลง qoq แม้ชดเชยได้ด้วยปริมาณขายที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ต้นทุนทรงตัว แต่ราคาหุ้นมี upside จำกัด ยังแนะนำ Switch
ส่วนหุ้นที่ทำ Earnings Preview ในงวด 2Q61 นักวิเคราะห์ ASPS ทยอยทำเพิ่มเติมคือ MCS (Buy: FV@B9.20) คาดกำไรสุทธิงวด 2Q61 ที่ 130 ล้านบาท เติบโต 52% yoy (-26% qoq) การส่งออกโครงสร้างเหล็ก OH-1 และ Takeshiba ที่เพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและราคาขาย ส่งผลให้กำไร 1H61 เติบโตกว่า 12.7 เท่าตัว yoy หรือ คิดเป็น 73% ของประมาณการ แต่งวด 2H61 คาดชะลอตัว จึงยังคงประมาณการกำไรเดิม นับจากต้นปีถึงปัจจุบันได้รับงานญี่ปุ่นเพิ่ม 2 หมื่นตัน ตามการขยายตัวภาคก่อสร้าง แต่จุดจุดเด่นคุณภาพและค่าแรงต่ำถูกกว่าคู่แข่ง ทำให้จะมีโอกาสได้รับงานญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น
M (Switch: FV@B77) คาดกำไรสุทธิ 671 ล้านบาท ทรงตัว yoy สาเหตุจากค่าใช้จ่ายปรับเพิ่มมากกว่ายอดขาย ขณะที่ SSSG ทั้ง MK และ Yayoi ทรงตัว ส่วน Gross Margin คาดเพิ่มเป็น 68.7% จากต้นทุนวัตถุดิบโดยรวมอยู่ในระดับต่ำ โดยประเมินกำไรปี 2561 เติบโต 9% yoy เท่ากับ 2,643 ล้านบาท ยอดขายขยายตัวต่อจากแผนเปิดสาขาใหม่ 35 สาขา และ SSSG ของ MK และ Yayoi เพิ่มขึ้น ส่วน BIZZY BOX ร้านใหม่ ยังมีผลต่อกำไรจำกัด จึงไม่ได้รวมในประมาณการ ขณะที่ราคาหุ้นมี upside จำกัด แนะนำ switch ไปยัง CPF (FV@B31)
BCPG (Switch: FV@B18.50) คาดกำไรสุทธิ 2Q61 เพิ่มขึ้น 31%qoq มาอยู่ที่ 461 ล้านบาท หนุนจากรายได้ค่าขายไฟฟ้าที่สูงขึ้นเนื่องจากเข้าสู่ช่วง high season ของโซลาร์ไทยและญี่ปุ่น รวมถึงโครงการ Gotemba 4 MW ที่ COD เมื่อ 16 เม.ย. แม้จะกดดันจากส่วนแบ่งกำไรบริษัทร่วมที่ลดลง 28%qoq จากโครงการพลังงานลมที่เข้าสู่ช่วง low season อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิจัยได้มีการปรับลดสมมติฐานกำไรปี 2561-63 สะท้อน Capacity Factor โครงการโซลาร์ไทยที่ต่ำกว่าคาดทุกโครงการ เหลืออยู่ที่ 4-4.5 ชม./วัน รวมถึงปรับเลื่อน COD โครงการโซลาร์ญี่ปุ่น 4 โครงการรวม 75 MW ทำให้มูลค่าพื้นฐานใหม่ลดลงเหลือ 18.50 บาท (เดิม 20.70 บาท) อิง DCF โดยยังคง WACC และ Long-term Growth ไว้เท่าเดิมที่ 5% และ 1% ตามลำดับ และยังคงคำแนะนำ Switch
AP (Buy: FV@B10.80) คาดกำไรปกติ 2Q61 สูงถึง 1.12 พันล้านบาท (+98% yoy, +38% qoq) และมีโอกาสทำจุดสูงสุดของปีนี้ หนุนจากการบันทึกยอดขายอสังหาฯ และการส่งมอบคอนโดฯ JV ใหม่ขนาดใหญ่ Life Asoke ตั้งแต่ เม.ย. ที่ผ่านมา (คาดรับรู้ส่วนแบ่งกำไรบริษัทร่วมมากถึง 475 ล้านบาท) และ 2H61 คาดรายได้ขายอสังหาฯ มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ตามแผนเปิดโครงการใหม่ แต่คาด SGA สูงขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะคอนโดฯ JV ซึ่งจะทำให้การรับรู้ส่วนแบ่งกำไรบริษัทร่วมรายไตรมาสใน 2H61 ลดลงเทียบกับ 2Q61
SIRI (Buy: FV@B1.95) คาดกำไรปกติ 415 ล้านบาท เติบโตสูง 92% qoq แรงหนุนจากการส่งมอบโครงการ JV ใหม่ Line ราชเทวี และยอดโอนฯ แนวราบและคอนโดเพิ่มขึ้น 9% qoq ขณะที่ 2H61 จะเติบโตอย่างมีนัยฯ จาก 1H61 สนับสนุนด้วยยอดโอนฯ แนวราบมากขึ้น ส่วนคอนโดฯ จะมีการส่งมอบ 4 โครงการใหม่ ซึ่งเป็น JV 2 โครงการ คาดหนุนต่อการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรงวด 4Q61 และผลักดันกำไร 4Q61 สูงสุดของปี
ข่าวเด่น