คำแนะนำ
พิจารณาโซน 1,215-1,211 ดอลลาร์ต่อออนซ์ในการเปิดสถานะซื้อ ขณะที่การเปิดสถานะขายจำเป็นต้องรอการดีดตัวขึ้นเข้าใกล้แนวต้าน ซึ่งแนะนำทำกำไรระยะสั้นจากการแกว่งตัวของราคาเท่านั้น
แนวรับ-แนวต้าน
แนวรับ 1,211 1,200 1,193
แนวต้าน 1,237 1,248 1,259
ปัจจัยพื้นฐาน
ราคาทองคำวานนี้ปิดปรับตัวลดลง 2.48 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ถึงแม้จะได้รับแรงหนุนจากดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงขานรับการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะปรับลดการใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินในการประชุมที่จะเสร็จสิ้นลงในวันนี้ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันดอลลาร์/เยน อย่างไรก็ตามแรงซื้อในตลาดทองคำยังไม่มากพอที่จะดันให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น สะท้อนจากข้อมูลของ CFTC ที่รายงานว่าในสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 24 ก.ค.กองทุนเฮดจ์ฟันและผู้จัดการกองทุนได้เพิ่มสถานะขาย(Short positions)สัญญาฟิวเจอร์สทองคำตลาด COMEX ขึ้นสู่ระดับ 146,671 สัญญา ทำให้สถานะขายสุทธิในตลาดเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้าสู่ระดับ 36,422 สัญญา บ่งชี้ถึงการคาดการณ์เชิงลบในตลาดทองคำที่ยังคงอยู่ในระดับสูง สำหรับวันนี้ติดตามผลการประชุม BOJ ว่าจะมีการปรับลดการใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินหรือไม่ หากเป็นไปตามคาดอาจกดดันดอลลาร์/เยนต่อซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนราคาทองคำ แต่หาก BOJ ไม่ปรับลดการใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินอาจหนุนให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันราคาทองคำ อีกทั้งต้องติดตามการเปิดเผยดัชนี PCE,การบริโภคและรายได้ส่วนบุคคล, ดัชนี PMI เขตชิคาโกและดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจาก CB
ปัจจัยทางเทคนิค
ราคาทองคำเกิดแรงขายทำให้ราคาอ่อนตัวลงหลังจากที่ดีดตัวขึ้นมาใกล้ 1,225-1,227 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เบื้องต้น แนวต้านยังคงอยู่ที่ 1,235-1,237 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หากยังไม่สามารถผ่านไปได้ ประเมินว่าจะเกิดแรงขายกดดันให้ราคาเข้าใกล้ 1,215-1,211 ดอลลาร์ต่อออนซ์อีกครั้ง
กลยุทธ์การลงทุน GOLD SPOT & GOLD FUTURES
ราคาทองคำมีจุดเปิดสถานะขายระยะสั้นในบริเวณ 1,235-1,237 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (ตัดขาดทุนหากยืน 1,237 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้) แต่หากราคาอ่อนตัวลงไปก่อนให้พิจารณาบริเวณ 1,215-1,211 ดอลลาร์ต่อออนซ์เป็นจุดเปิดสถานะซื้อ แต่หากหลุดโซนดังกล่าวแนะนำให้ชะลอการเข้าซื้อเพื่อรอดูการตั้งฐานของราคา
ข่าวเด่น