กังวลอุปทานน้ำมันดิบโลกตึงตัวหนุนราคาน้ำมันดิบขึ้น
+ ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น นำโดยน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 2 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากตลาดกังวลอุปทานน้ำมันดิบตึงตัวโดยเฉพาะที่สหรัฐฯ หลังปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบจากแคนาดาคาดจะกลับมาดำเนินการได้เต็มกำลังช้ากว่าที่กำหนดไว้ โดยปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับลดลงมาแตะระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปี ขณะที่ ปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง ณ จุดส่งมอบ คุชชิ่ง โอกลาโฮมา แตะระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปี
+ อุปทานน้ำมันยังคงมีแนวโน้มตึงตัวต่อเนื่อง หลังปริมาณการผลิตและส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านคาดจะปรับลดลงในเร็วนี้ นอกจากนี้ สถานการณ์ความไม่สงบที่ ช่องแคบ Bab El-Mandeb จากการโจมตีของกลุ่มก่อความไม่สงบ ส่งผลให้ซาอุดิอาระเบียประกาศหยุดการส่งออกน้ำมันดิบผ่านทางช่องแคบดังกล่าวเป็นการชั่วคราว
- ผลสำรวจของสำนักข่าว Reuters พบว่าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปก ในเดือน ก.ค. ปรับเพิ่มขึ้น 70,000 บาร์เรลต่อวันจากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 32.64 ล้านบาร์เรลต่อวัน นำโดยการเพิ่มขึ้นของซาอุดิอาระเบีย คูเวต และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับแรงหนุนจากการส่งออกของจีนที่ปรับลดลงและแรงซื้อจากญี่ปุ่นที่ปรับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคายังได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสิงคโปร์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือน
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันดีเซลคงคลังสิงคโปร์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 3 เดือน นอกจากนี้ ราคายังได้รับแรงกดดันจากการส่งออกของอินเดียที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 67-72 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 71-76 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
จับตาสถานการณ์ความตึงเครียดที่ช่องแคบบับเอลมันเดบ (Bab al-Mandeb strait) หลังกองกำลังกบฎฮูตีในเยเมนเข้าโจมตีเรือขนส่งน้ำมัน 2 ลำ ในวันพุธที่ผ่านมา ส่งผลให้นาย Khalid al-Falih รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของซาอุดิอาระเบียแถลงการณ์ ยุติการขนส่งน้ำมันผ่านช่องแคบบับเอลมันเดบชั่วคราว จนกว่าสถานการณ์ความตึงเครียดจะคลี่คลาย
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น จากอัตราการกลั่นของโรงกลั่นในประเทศที่ปรับลดลง 4 สัปดาห์ติดต่อกัน โดยล่าสุดสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานอัตราการกลั่นของโรงกลั่นสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 20 ก.ค. 61 ปรับลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 93.8 ซึ่งเป็นการปรับลดลงจากสูงสุดที่ร้อยละ 97.5
ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น หลังในการประชุมช่วงปลายเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมากลุ่มผู้ผลิตตกลงที่จะปรับเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นราว 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพื่อชดเชยอุปทานที่หายไปจากเวเนซุเอลา และอิหร่าน
ดัชนีและราคาที่สำคัญ
ข่าวเด่น