ราคาน้ำมันเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นทุกชนิด โดยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 1.34 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 73.85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 0.28 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 68.8 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 1.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 72.49 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 3.15 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 84.02 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซล เพิ่มขึ้น 2.54 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 87.12 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
นาย Khalid al-Falih รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานซาอุดิอาระเบียแถลงว่าซาอุดิอาระเบียจะหยุดการส่งออกน้ำมันดิบ ผ่านช่องแคบ Bab al-Mandeb ชั่วคราวหลังเรือบรรทุกน้ำมันดิบ (Very Large Crude Carrier-VLCC บรรทุกน้ำมันดิบได้ประมาณ 2 ล้านบาร์เรล) ของซาอุดีอาระเบีย 2 ลำ ถูกกองกำลังกบฏ Houthi ในเยเมนโจมตีบริเวณทะเลแดง ก่อนลอดช่องแคบ Bab al-Mandeb สู่มหาสมุทรอินเดีย (ช่องแคบดังกล่าวมีเรือขนส่งน้ำมันผ่าน 4.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่งออกจากซาอุดีอาระเบีย 500,000-700,000 บาร์เรลต่อวัน)
Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 20 ก.ค. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 6.1 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 404.9 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบเกือบ 3 ปีครึ่ง
หลังการประชุมที่ทำเนียบขาว กรุงวอชิงตัน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ นาย Donald Trump ประกาศใช้งบประมาณ 1.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ช่วยเหลือผู้ส่งออกผลผลิตทางการเกษตรซึ่งถูกจีนเรียกเก็บภาษี และ นาย Jean-Claude Juncker ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (EC) กล่าวว่าสหรัฐฯ จะยกเลิกการตั้งกำแพงภาษีนำเข้ารถยนต์จากยุโรป และหาหนทางทลายกำแพงภาษีเหล็กกล้า และอลูมิเนียม ที่สหรัฐฯ ตั้งไว้ ขณะที่ยุโรปจะขจัดกำแพงภาษีนำเข้าถั่วเหลืองจากสหรัฐฯ และจะเพิ่มการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากสหรัฐฯ
รัฐบาลจีนประกาศใช้มาตรการทางเศรษฐกิจเชิงรุก (Proactive) เพื่อลดผลกระทบจากสงครามการค้าโดยปรับลดภาษีวงเงินรวม 6.5 หมื่นล้านหยวน (9.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ให้บริษัทที่มีค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D), สนับสนุนรัฐบาลท้องถิ่นออกพันธบัตร รวมถึงการสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
Baker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบ (Rig) ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 27 ก.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 3 แท่น อยู่ที่ 861 แท่น
รัฐมนตรีพลังงานของรัสเซีย นาย Alexander Novak แถลงว่ารัสเซียจะผลิตน้ำมันดิบ ในปี พ.ศ. 2561 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 70,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 11.02 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 30 ปี และในปี พ.ศ. 2562 อยู่ที่ 11.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน
National Oil Corp. (NOC) บริษัทน้ำมันแห่งชาติของลิเบียกลับมาส่งออกน้ำมันดิบ Mellitah ได้ครั้งแรก จากแหล่ง El- Feel (ปริมาณการผลิต 70,000 บาร์เรลต่อวัน) หลังประกาศยกเลิกเหตุสุดวิสัย (Force Majeure) ในวันที่ 24 ก.ค. 61
แนวโน้มราคาน้ำมัน
ราคาน้ำมันดิบปิดตลาดวันศุกร์เพิ่มขึ้นแม้ผู้ผลิตรายใหญ่ของกลุ่ม OPEC จะยังเร่งปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ปริมาณสำรองน้ำมันดิบและปริมาณการผลิตส่วนเกิน (Spare Capacity) ล้วนอยู่ในระดับต่ำบ่งชี้ว่าตลาดน้ำมันยังคงเปราะบางต่อปัญหาอุปทานชะงักงัน Reuters คาดว่าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในอิหร่านเริ่มลดลงหลังผู้ซื้อเริ่มทยอยลดปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบของอิหร่าน ล่าสุดนาย Dharmendra Pradhan รัฐมนตรีว่าการกระทรวงน้ำมันของอินเดีย เผยว่าบริษัทน้ำมันในอินเดียนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านลดลงจากเดือนก่อน 12% ในเดือน มิ.ย. 61 อยู่ที่ 664,000 บาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม อิหร่านยังหาทางรักษาส่วนแบ่งตลาดซึ่งอินเดียเป็นผู้ซื้อรายใหญ่อันดับสองรองจากจีน โดยเสนอการให้ประกันเที่ยวเรือขนส่งน้ำมันแก่อินเดียทุกเที่ยว นอกเหนือจากการประกันเที่ยวเรือที่ดำเนินการโดยบริษัท National Iranian Tanker Company (NITC) ทางด้านนาย Donald Trump ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กล่าวว่าตนพร้อมที่จะประชุมร่วมกับนาย Hassan Rouhani ประธานาธิบดีอิหร่าน โดยไม่มีข้อแม้ใดๆ เพื่อเป็นการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ ทางด้านเศรษฐกิจล่าสุด U.S. Commodity Futures Trading Commission (CFTC) รายงานสถานะการขายสุทธิ (Short Position) ของผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (Bond Yield) ทั้งอายุ 5 ปี 10 ปี และ 30 ปี สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 24 ก.ค. 61 เพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ บ่งชี้ว่านักลงทุนยังไม่มั่นใจต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ว่าจะสามารถรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ได้อีกหรือไม่ รวมถึงผลกระทบของตลาดหุ้นด้านเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ที่ผลประกอบการของบริษัทรายใหญ่อาทิ Facebook, Amazon, Netflix และ Twitter ในไตรมาสที่ 2/61 ออกมาต่ำกว่าคาด บ่งชี้ว่าบริษัท technology กลุ่มนี้อาจถึงจุดอิ่มตัว (saturation point) ซึ่งหุ้นกลุ่ม technology เป็นกลุ่มช่วยสนับสนุนให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด ตั้งแต่วันพฤหัสที่ผ่านมามีการเทขายหุ้นกลุ่มนี้มูลค่ากว่า 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นทั่วโลก ด้านเทคนิคสัปดาห์นี้คาดว่า ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 72.0-77.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 68.0 – 73.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 70.0-75.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ บาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นเนื่องจาก EIA รายงานสหรัฐฯ นำเข้าน้ำมันเบนซินสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 20 ก.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 187,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ระดับ 844,000 บาร์เรลต่อวัน และกรมศุลกากรจีนรายงานปริมาณส่งออกน้ำมันเบนซินในเดือน มิ.ย. 61 ลดลงจากเดือนก่อน 20% มาอยู่ที่ 333,000 บาร์เรลต่อวัน แตะระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือน ทั้งนี้ IHS Markits คาดว่าเป็นผลจากการปรับนโยบายการเก็บภาษีของโรงกลั่นอิสระที่เข้มงวดมากขึ้นส่งผลให้อัตราการกลั่นปรับตัวลดลง และ Korea National Oil Corp. (KNOC) ของเกาหลีใต้รายงานอุปสงค์น้ำมันเบนซิน เดือน มิ.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.3% มาอยู่ที่ 228,000 บาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ดี บริษัท Phillips 66 กลับมาเดินเครื่อง Fluid Catalytic Cracking (กำลังการกลั่น 120,000 บาร์เรลต่อวัน) ที่โรงกลั่น Alliance (250,000 บาร์เรลต่อวัน) ในมลรัฐ Louisiana ประเทศสหรัฐอเมริกา ในวันที่ 21 ก.ค.61 หลังการซ่อมบำรุงแล้วเสร็จ ด้านปริมาณสำรอง International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุด 25 ก.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 802,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 14.68 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 4 เดือน ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 82.0-87.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นเนื่องจากแรงซื้อของบริษัท Pertamina และ บริษัท Oil Industry Pipeline Co-ordination Secretarial ของเคนยา ประกอบกับกรมศุลกากรจีน รายงานปริมาณส่งออกน้ำมันดีเซล ในเดือน มิ.ย. 61 ลดลงจากเดือนก่อน 19.5% มาอยู่ที่ 400,000 บาร์เรลต่อวัน แตะระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือน อย่างไรก็ตาม บริษัท Nayara Energy ของอินเดียขายน้ำมันดีเซล กำมะถัน 0.001 % ปริมาณ 525,000 บาร์เรล ส่งมอบ 14-18 ส.ค. 61 และออกประมูลขายน้ำมันดีเซล กำมะถัน 0.05 % ปริมาณ 490,000-530,000 บาร์เรล ส่งมอบ 19-23 ส.ค. 61 นอกจากนี้บริษัท KNOC ของเกาหลีใต้รายงานความต้องการใช้น้ำมันดีเซล ในเดือน มิ.ย. 61 ลดลงจากปีก่อน 1.9 % มาอยู่ที่ 484,000 บาร์เรลต่อวัน ด้านปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุด 25 ก.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.04 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 10.90 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 3 เดือนครึ่ง ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซล จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 85.0-90.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ข่าวเด่น