แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (13 – 17 ส.ค. 61)
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มถูกกดดันต่อเนื่อง จากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่คาดจะปรับเพิ่มขึ้น หลังการนำเข้าน้ำมันดิบยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง รวมถึง การผลิตน้ำมันดิบของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากซาอุดิอาระเบีย รัสเซีย นอกจากนี้ ปริมาณการผลิตของลิเบียคาดจะปรับเพิ่มขึ้นหลังสถานการณ์ความไม่สงบมีแนวโน้มคลี่คลายลง อย่างไรก็ตาม ราคายังได้รับแรงหนุนจากปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านที่ปรับลดลงหลังเผชิญกับการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ และการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวลง
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
? ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากแหล่งผลิตน้ำมันดิบ Syncrude ในแคนาดาคาดจะกลับมาดำเนินการผลิตได้เต็มกำลังภายในเดือน ส.ค. 61 อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้น้ำมันของสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง โดยในสัปดาห์ล่าสุด โรงกลั่นในสหรัฐฯ เพิ่มกำลังการกลั่นขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 96.6 ซึ่งนับเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 2 เดือน
? การผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันดิบโอเปกและนอกโอเปกคาดจะปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังทั้งสองกลุ่มผู้ผลิตตัดสินใจปรับเพิ่มกำลังการผลิตกว่า 1 ล้านบาร์เรลต่อวันในการประชุมโอเปกในเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยในเดือน ก.ค. กำลังการผลิตจากซาอุดิอาระเบีย คูเวต สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้ปรับเพิ่มกำลังการผลิตรวมกันกว่า 170,000 บาร์เรลต่อวันจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่รัสเซีย การผลิตคาดจะเพิ่มขึ้นกว่า 200,000 บาร์เรลต่อวัน
? ปริมาณการผลิตและส่งออกของลิเบียมีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มขึ้น หลังเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศเริ่มคลี่คลายลง หลังลิเบียประกาศยกเลิกเหตุสุดวิสัย (Force Majeure) และกลับมาดำเนินการส่งออกน้ำมันดิบจากแหล่งผลิตน้ำมัน El Feel ซึ่งมีกำลังการผลิตกว่า 90,000 บาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม แหล่งผลิตน้ำมันดิบ Sharara ที่มีกำลังการผลิตกว่า 340,000 บาร์เรลต่อวัน ยังคงปิดดำเนินการอยู่ หลังเกิดเหตุลักพาตัวคนงานโดยกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ
? จับตาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน หลังสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างทั้งสองประเทศยังไม่มีแนวโน้มคลี่คลายในเร็วนี้ ล่าสุดจีนเตรียมตอบโต้สหรัฐฯ โดยเตรียมเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ มูลค่ากว่า 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในอัตราร้อยละ 25 ซึ่งนโยบายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้วันที่ 23 ส.ค. นี้ ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับที่สหรัฐฯ จะเก็บภาษีนำเข้าจากจีนในอัตราร้อยละ 25 กับสินค้ามูลค่า 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยสงครามการค้าครั้งนี้คาดว่าจะกระทบต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลกและมีแนวโน้มกดดันความต้องการใช้น้ำมันโลก
? จับตาปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบจากอิหร่าน หลังในเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ปริมาณการส่งออกปรับลดลงกว่าร้อยละ 7 จากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 2.32 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำสุดในรอบ 4 เดือน หลังญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และยุโรป ปรับลดการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่าน ก่อนที่สหรัฐฯ จะประกาศคว่ำบาตรการค้าขายน้ำมันดิบอิหร่านในวันที่ 4 พ.ย. 61 อย่างไรก็ตาม จีนและอินเดียยังคงนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านในปริมาณที่สูง โดยในเดือน ก.ค. ปริมาณนำเข้าของทั้งสองประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 120,000 บาร์เรลต่อวัน จากเดือนก่อนหน้า
? ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวลงเล็กน้อย หลังผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ปรับลดการขุดเจาะน้ำมันดิบลงต่อเนื่องกว่า 2 สัปดาห์ติดต่อกัน สอดคล้องกับราคาน้ำมันดิบที่ปรับลดลงในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ ท่อขนส่งน้ำมันดิบของแหล่ง Permian ได้ถูกใช้งานเต็มกำลังการขนส่งแล้ว ส่งผลให้ผู้ผลิตต้องชะลอการผลิตลง โดยล่าสุด ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 3 ส.ค. ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือนที่ 10.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน
? ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดค้าปลีกจีน ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมจีน GDP ไตรมาส 2/61 ของยุโรป และยอดค้าปลีกสหรัฐฯ
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (6 – 10 ส.ค. 61)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลง 0.86 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 67.63 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 0.40 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 72.81 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 70.33 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยได้รับแรงกดดันจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ที่ตึงเครียดมากขึ้น หลังจีนประกาศเพิ่มภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ มูลค่ากว่า 1.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งจะดำเนินการภายในวันที่ 23 ส.ค. นอกจากนี้ ปริมาณการผลิตที่ปรับลดลงจากความไม่สงบเริ่มกลับมาผลิตใหม่อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ราคายังคงได้รับแรงหนุนจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ ที่ปรับลดลง หลังการขนส่งน้ำมันดิบของแหล่ง Permian ได้ถูกใช้งานเต็มกำลังการขนส่งแล้ว ส่งผลให้ ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับลดลงกว่า 1.4 ล้านบาร์เรล ในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 3 ส.ค. 18
ข่าวเด่น