ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ปตท.รายงานสถานการณ์น้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป สัปดาห์ที่ 6-10 ส.ค. 61 และคาดการณ์สัปดาห์ที่ 13-17 ส.ค. 61


 ราคาน้ำมันเฉลี่ยรายสัปดาห์ผันผวน โดยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent)  ลดลง 0.54 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 73.11 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 0.89 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 67.91เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 0.35 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 72.15 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ดีราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95  เพิ่มขึ้น 0.62 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 84.27 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซล เพิ่มขึ้น1.02 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 87.79 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล  

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
     สงครามการค้าทวีความรุนแรงระหว่างสหรัฐ กับจีน ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ของจีนแถลงเตรียมเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ในอัตรา 25 % เป็นมูลค่ารวม 16,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 23 ส.ค. 61 เพื่อตอบโต้สหรัฐฯ ซึ่งมีแผนจะเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้น ในอัตรา 25 % มูลค่ารวม 16,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีผลบังคับใช้ในวันเดียวกัน โดยรายการสินค้าจากสหรัฐฯ ที่จะถูกจีนเก็บภาษีสินค้านำเข้า ในอัตรา 25 % เพิ่มขึ้นเป็น 333 รายการ จากร่างเดิมที่ 114 รายการ อาทิ เหล็ก รถยนต์ และอุปกรณ์การแพทย์ รวมถึงสินค้าพลังงาน อาทิ น้ำมันสำเร็จรูป ก๊าซหุงต้ม(LPG) และถ่านหิน แต่ยังไม่รวมน้ำมันดิบ
          Reuters รายงานว่า Sinopec บริษัทน้ำมันแห่งชาติของจีนเลื่อนการนำเข้าน้ำมันดิบจากสหรัฐฯ ออกไปโดยไม่มีกำหนด ทั้งนี้ Reuters ประเมินจากกำหนดส่งมอบว่าจีนนำเข้าน้ำมันดิบจากสหรัฐฯ ในเดือน ม.ค.-ส.ค. 61 ปริมาณ 335,000 บาร์เรลต่อวัน แต่ในเดือน ก.ย. 61 จะลดลงมาอยู่ที่ 198,000 บาร์เรลต่อวัน
          บริษัท Rosneft ของรัสเซีย เผยว่าจะปรับปริมาณการผลิตน้ำมันในไตรมาส 3/61 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 200,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 4.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตามที่ได้ตกลงร่วมกับกลุ่ม OPEC ในการเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันเมื่อเดือน มิ.ย. 61 เพื่อบรรเทาภาวะอุปทานน้ำมันตึงตัว  
         OPEC รายงานเวเนซุเอลาผลิตน้ำมันดิบ ในเดือน ก.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 160,000 บาร์เรลต่อวัน  อยู่ที่ 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน                  
          ICE รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ Brent ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า ICE ที่ลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุด 7 ส.ค. 61  กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับ Net Long Positon ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 18,441 สัญญา มาอยู่ที่ 353,905 สัญญา       

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
          เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 61 นาย Donald Trump ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ลงนามในคำสั่งประธานาธิบดี (Executive Order) คว่ำบาตรอิหร่านรอบแรก มีผลตั้งแต่วันที่ 7 ส.ค. 61 ได้แก่ จำกัดการใช้ดอลลาร์สหรัฐฯ การค้าทองคำและโลหะมีค่า และการขัดขวางการซื้อหรือการขายโลหะอุตสาหกรรมต่างๆ ของอิหร่าน  และมาตรการรอบสอง คือคว่ำบาตรประเทศที่นำเข้าน้ำมันดิบอิหร่าน ซึ่งจะมีผลวันที่ 4 พ.ย. 61 หลังให้เวลาลดปริมาณนำเข้าเป็นเวลา 6 เดือน  Platts รายงานอิหร่านส่งออกน้ำมันดิบ เดือน ก.ค. 61 ลดลง 7 % มาอยู่ที่ 2.32 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่ำสุดในรอบ 4 เดือน ทั้งนี้เกาหลีใต้มีแผนหยุดการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555
          Energy Information Administration (EIA)  รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 3 ส.ค. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.4 ล้านบาร์เรล  มาอยู่ที่ 407.4 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตามลดลงน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะลดลง 3.3 ล้านบาร์เรล และปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 100,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 10.80 ล้านบาร์เรลต่อวัน

แนวโน้มราคาน้ำมัน
            ราคาน้ำมันปิดตลาดปรับตัวลดลงเล็กน้อย จากรายงานฉบับเดือน ส.ค. 61 ของกลุ่ม OPEC ที่บ่งชี้ว่าตลาดน้ำมันอาจกลับมาอยู่ในสภาวะอุปทานล้นตลาดได้ใน ปี พ.ศ. 2562 เนื่องจากผู้ผลิตนอกกลุ่ม OPEC (Non-OPEC) โดยเฉพาะ สหรัฐฯ บราซิล และแคนาดา ยังคงเดินหน้าผลิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้อิรักผู้ผลิตน้ำมันดิบอันดับ 2 ของกลุ่ม ยังคงเดินหน้าผลิตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยปริมาณการผลิตในเดือน ก.ค. 61 เพิ่มขึ้น 90,000 บาร์เรลต่อวันอยู่ที่ 4.56 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งคิดอัตราความร่วมมือในการลดกำลังผลิตได้เพียงแค่ 2% เมื่อเทียบผู้ผลิตรายใหญ่อื่นๆ อาทิ ซาอุดีอาระเบีย คูเวต สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่เร่งผลิตเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือน มิ.ย. 61 ทางด้านเวเนซุเอลา ประเทศในกลุ่ม OPEC ที่มีปริมาณการผลิตลดลงต่อเนื่อง ล่าสุดประธานาธิบดีเวเนซุเอลา นาย Nicolas Maduro ให้สัมภาษณ์ว่าราคาน้ำมันเบนซินในประเทศควรปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ราคาตลาดโลก เพื่อลดการลักลอบขโมยน้ำมันไปขายให้ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น โคลัมเบีย ปัจจุบันเวเนซุเอลามีการอุดหนุนราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ ซึ่งทำให้ราคาอยู่ในระดับต่ำ แม้ราคาสินค้าอื่นๆ จะปรับตัวสูงขึ้นจากอัตราเงินเฟ้อที่คาดว่าจะแตะ 1,000,000% ในปีนี้ แม้รัฐบาลเวเนซุเอลาจะยังคงให้การสนับสนุนราคาน้ำมันของยานพาหนะที่ครอบครองโดยรัฐบาล และผู้ที่มีสิทธิ์ได้รับสวัสดิการสังคม แต่การประกาศดังกล่าวอาจสร้างความไม่พอใจแก่ประชาชนทั่วไป และเป็นชนวนการประท้วงในประเทศได้ (Reuters รายงานว่าปัจจุบันราคากาแฟ 1 แก้วในเวเนซุเอลา สามารถใช้เพื่อเติมน้ำมันรถ SUV ขนาดเล็กได้ 9,000 ครั้ง) ให้จับตามองผลกระทบจากการเคลื่อนย้ายเงินทุนจากสินทรัพย์เสี่ยงมายังสินทรัพย์มั่นคงจากประเด็นค่าเงินในตุรกีและอาร์เจนตินาทรุดตัวรุนแรง ซึ่งมีผลกดดันบรรยากาศการลงทุนโดยรวม รวมถึงราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ สัปดาห์นี้คาดว่า ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 70-75 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 65-70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล  ราคาน้ำมันดิบ Dubai  จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 69-74 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ บาร์เรล

สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
            ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้น เนื่องจาก บริษัท Cosmo Oil ของญี่ปุ่นเข้าซื้อน้ำมันเบนซินจากตลาดเอเชีย เนื่องจากโรงกลั่น Chiba (กำลังการกลั่น 177,000 บาร์เรลต่อวัน) อยู่ระหว่างการปิดซ่อมบำรุง และมีแผนปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น Sakai (กำลังการกลั่น 100,000 บาร์เรลต่อวัน) ในช่วงเดือน ก.ย. 61 และ Platts รายงานอัตราการกลั่นของโรงกลั่นอิสระของจีนในจังหวัด Shandong  เดือน ก.ค. 61 อยู่ที่ระดับ 52.5%  ต่ำสุดในรอบ 19 เดือน และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ 55.5% เนื่องจากโรงกลั่นปิดซ่อมบำรุง ประกอบกับ Arbitrage ส่งออกน้ำมันเบนซินจากไต้หวันสู่ตะวันออกกลางเปิด โดย บริษัท Total ส่งออกน้ำมันเบนซินปริมาณ 500,000 บาร์เรล กำหนดส่งมอบ 10 ส.ค.61 ด้านปริมาณสำรอง International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 7 ส.ค. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 590,000 บาร์เรล  มาอยู่ที่ 14.74 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์  อย่างไรก็ตาม EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 3 ส.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน  2.9 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 233.9 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 3 สัปดาห์  และ Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณสำรอง น้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่ญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 4 ส.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน  130,000 บาร์เรล  มาอยู่ที่ 9.46  ล้านบาร์เรล ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 81.5-86 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล      

สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
            ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้น เนื่องจาก บริษัท Bharat Petroleum Corp. Ltd. (BPCL) ของอินเดีย มีแผนปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น Bina (กำลังการกลั่น 120,000 บาร์เรลต่อวัน) ตั้งแต่ช่วงกลางเดือน ส.ค. 61 เป็นเวลา 45 วัน ซึ่งเร็วกว่าแผนเดิมที่ตั้งไว้ในเดือน ก.ย. 61 หลังเกิดเหตุเพลิงไหม้ที่หน่วย Delayed Coker เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 61 ส่งผลให้โรงกลั่นต้องหยุดดำเนินการฉุกเฉิน ด้านปริมาณสำรอง IES รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 7 ส.ค. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 860,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 9.08 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 7 สัปดาห์ และ PAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่ญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 4 ส.ค. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 150,000  บาร์เรล อยู่ที่ 8.95 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตามโรงกลั่น Nghi Son (กำลังการกลั่น 200,000 บาร์เรลต่อวัน) ของเวียดนามอยู่ระหว่างการขอใบอนุญาตส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปจากรัฐบาล เนื่องจากความต้องการในประเทศอยู่ในระดับต่ำและปริมาณสำรองเพิ่มขึ้นสูง ล่าสุดอัตราการกลั่นอยู่เพียงแค่ 50% ซึ่งจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่เวียดนามจะส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป จากเดิมที่ถูกจำกัดให้ขายในประเทศเท่านั้น นอกจากนั้น EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 3 ส.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.2 ล้านบาร์เรล  มาอยู่ที่ 125.4 ล้านบาร์เรลสูงสุดในรอบ 4 เดือน ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซล จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 84.5-89 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 15 ส.ค. 2561 เวลา : 10:10:26

03-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 3, 2024, 10:21 am