ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
บล.เอเซียพลัส : รายงานภาวะตลาดหุ้นรายวัน คาดดัชนีตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวในกรอบจำกัด (17/08/61)


 กลยุทธ์การลงทุน

  คาดดัชนีตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวในกรอบจำกัด  แม้จะผ่อนคลายจากการเจรจาการค้าสหรัฐ-จีน รอบ 2 แต่ต่างชาติขายสุทธิ พร้อมเปิดชอร์ตสุทธิสัญญา SET50 Futures  เป็นวันที่ 5 ขณะที่ดอลลาร์แข็งค่ามากในรอบกว่า 1 ปี สวนทางสกุลอื่น ๆ อ่อนค่าทั่วโลก กดดันสินค้าโภคภัณฑ์ กลยุทธ์เน้นหุ้น Domestic Play (ROBINS, DTAC, DCC, EASTW, SPF) หรือหุ้น 2 Low คือ Beta และ P/E ต่ำ เลือก DCC(FV@B2.9) และ EASTW(FV@B13) เป็น Top picks

ย้อนรอยตลาดหุ้นไทยวานนี้ …. SET ฟื้นตัวเล็กน้อย 
  วานนี้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นเล็กน้อยสวนทางตลาดหุ้นในภูมิภาค แม้ระหว่างวันดัชนีฯ ร่วงลงมาบริเวณแนวรับ 1665 จุด ก่อนจะดีดขึ้นมาปิดตลาดที่ 1680.96 จุด เพิ่มขึ้น 4.67 จุด หรือ 0.28% มูลค่าการซื้อขาย 5.77 หมื่นล้านบาท แรงซื้อกลับเข้ามาในหุ้นกลุ่มค้าปลีก นำโดย CPALL(+1.81%) BJC(+2.31%) ROBINS(2.82%) และ BEAUTY ยังปรับขึ้นต่อเนื่องอีก 4.8% ตามด้วยแรงรีบาวด์ของหุ้นในกลุ่ม ICT (ADVANC TRUE DTAC) ส่วนหุ้นกลุ่มพลังงานมีปัจจัยกดดันจากตัวเลขสต๊อกน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นทำให้ราคาน้ำมันดิบโลกปรับตัวลง กดดันหุ้นขนาดใหญ่ทั้ง PTT และ PTTEP ลดลง -0.98% และ -1.10% ตามลำดับ 
  แนวโน้ม SET Index วันนี้คาดฟื้นตัวจำกัด ยังให้น้ำหนักสงครามการค้าโลก และดอลลาร์ที่ยังแข็งค่าต่อ กดดันสินค้าโภคภัณฑ์  ราคาน้ำมันดูไบหลุด 70 เหรียญฯ

จีน-สหรัฐ การค้ารอบใหม่ จะดีขึ้นหากลดการแข็งกร้าว  
  ระยะสั้นเชื่อว่าปัญหาในตุรกีน่าจะกดดันสะท้อนในตลาดเงินและตลาดหุ้นโลกระดับหนึ่งแล้ว แม้ประเด็นสงครามการค้าสหรัฐ-ตุรกียังมีอยู่  หลังจากสหรัฐยังคงยืนยันเก็บภาษีนำเข้าเหล็ก  50% และอลูมิเนียม 20% จากตุรกี  ขณะที่ตุรกีได้ตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีนำเข้า อาทิ ยานยนต์ 120%, เหล้า 140% บุหรี่ 60% (จากเดิมเฉลี่ย 0-36%) เป็นต้น 
  แม้เชื่อว่าวิกฤติการเงินในตุรกี จะกระทบต่อฐานะเงินกองทุนธนาคารพาณิชย์ และผู้ลงทุน หรือเจ้าหนี้ ซึ่งส่วนใหญ่ในยุโรป  และผู้บริโภคที่เผชิญกับเงินเฟ้อ และดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อเศรษฐกิจตุรกี และยุโรป ซึ่งมีความสัมพันธที่ใกล้ชิดทั้งด้านการค้า และลงทุน  สำหรับประเทศไทยถือว่ามีการค้าขายน้อยมากไม่ถึง 1% ของยอดการค้าทั้งหมด  
  แต่หากพิจารณาคู่ค้าหลักของตุรกี ที่กระจุกตัวในยุโรป 55% รองลงมาคือ  31% อเมริกาเหนือ 6.45% และอาฟริกา 5.6% ขณะที่ไทยเอง มีการค้าขายกับยุโรปราว 10% ของการค้าทั้งหมด และกับเอเชียราว 50% ของระหว่างประเทศทั้งหมด จึงมิอาจจะปฏิเสธผลกระทบทางอ้อมได้  
  ขณะที่ให้น้ำหนักต่อสงครามการค้าสหรัฐ-จีน ซึ่งจะมีการเจรจาอย่างเป็นทางการ เป็นครั้งที่ 4 ของปีนี้ ในวันที่ 22- 23 ส.ค. ซึ่งต้องติดตามว่าจะมีใครจะอ่อนข้อให้กันก่อน ทั้งนี้หลังจากที่มีการตอบโต้การค้า 2 รอบ วงเงิน  5 หมื่นล้านเหรียญฯ ไปแล้ว ต้องติดตามต่อว่าสหรัฐจะประกาศขึ้นภาษีรอบ 3 อีก 2 แสนล้านเหรียญอัตรา 25% ตามที่ประกาศไว้หรือไม่ แต่ต้องภายหลังการทำประชาพิจารณ์ 5 ก.ย. 2561   ขณะที่จีนพร้อมตอบโต้รอบ 3 วงเงิน 6 หมื่นล้านเหรียญ อัตรา 5-25%
  อย่างไรก็ตามหากการเจรจายังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน และทั้งสองฝ่ายยังเดินหน้าขึ้นภาษีนำเข้าต่อไป คาดว่าผลกระทบจากสงครามการค้าน่าจะเห็นผลชัดเจนในช่วง 4Q61 หรือในปีหน้า โดยล่าสุดผลกระทบต่อเศรษฐกิจเกิดขึ้นกับทั้ง 2 ฝ่ายแล้ว คือในฝั่งสหรัฐ อาทิ ภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร 1.2 หมื่นล้านเหรียญฯ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ผลิตถั่วเหลือง หลังจากราคาตกต่ำ ขณะที่ในฝั่งจีน ผู้ผลิตรถยนต์ BMW, Tesla ได้ปรับขึ้นราคาสินค้าจากต้นทุนที่สูงขึ้น เป็นต้น

ผลกระทบจากปัญหาในตุรกีต่อบริษัทจดทะเบียนจำกัด 
  จากการสำรวจความเห็นของนักวิเคราะห์ ASPS พบว่าบริษัทจดทะเบียนของไทยที่มีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับตุรกีโดยตรงค่อนข้างน้อย จะมีเพียง CPF ที่เข้าไปลงทุนทำธุรกิจไก่ครบวงจร แต่ส่วนใหญ่จะมีความสัมพันธ์การค้า และลงทุน กับยุโรปมากกว่า คือ  
  CPF(FV@B30) ถือหุ้น 100% ในกิจการไก่ครบวงจร (ฟาร์มเลี้ยงไก่และโรงชำแหละไก่ และธุรกิจอาหารสัตว์) ในตุรกี  เป็นการผลิตและจำหน่ายในประเทศเป็นหลักราว 95% ที่เหลือ 5% ส่งออกไข่ไก่ไปดูไบ ซึ่งเป็นเงินตราต่างประเทศ 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (เทียบเท่า 1 พันล้านบาท) ผลกระทบจากวิกฤติการเงินน่าจะกระทบต่อ ธุรกิจของตุรกีในงวด 2H61 แต่น่าจะไม่มากนักเพราะเป็นธุรกิจอาหาร และโดยรวมรายได้ในตุรกีปี 2560 อยู่ที่ราว 2.0 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 4% ของรายได้รวมของ CPF 
  ทั้งนี้บริษัทย่อยในตุรกี (CPF) มีหนี้สินรวม 430 ล้านบาท โดยมีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยจ่ายต่อทุน (IBD/E) อยู่ที่ 0.3 เท่า แบ่งเป็นหนี้สินในสกุลเงินลีรา 70% ที่เหลือ 30% เป็นหนี้สกุลดอลลาร์  หรือราว 4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ผลกระทบจากการปรับเพิ่มดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางตุรกี  ทำให้ ดอกเบี้ยเงินกู้จากธนาคารของ CPF (และบริษัทอื่น) สูงถึง 32% จากระดับ 22% ในงวด 1H61 ทำให้ต้นทุนดอกเบี้ยเพิ่ม 15 ล้านบาท แต่จะถูกชดเชยด้วยรายได้ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งมีอัตราใกล้เคียงกันข้างต้น (Natural hedge) ทั้งนี้ จึงประเมินว่าโดยรวมผลกระทบ CPF จำกัด  ขณะที่ มีนโยบายบริหารความเสี่ยงในตุรกี คือ 1) ชะลอการขยายการลงทุนในตุรกีไว้ชั่วคราวก่อน 2) จำหน่ายสินค้าเป็นเงินสดทั้งหมด (เดิมให้เครดิตลูกหนี้การค้า) และแลกเงินลีราเป็นดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นวันเลย และ 3) เน้นส่งออกสินค้าสู่ต่างประเทศมากขึ้น  
  ที่เหลือน่าจะมีผลกระทบจำกัด  เพราะส่วนใหญ่มี exposure ในรูปสกุลยูโร แต่เนื่องจากปัจจุบันค่าเงินยูโรได้เปลี่ยนมาอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินบาทและดอลล่าร์ฯ เช่นกรณีของ MINT 
  MINT(FV@B48) ณ 2Q61 มีภาระหนี้ที่มีดอกเบี้ยจ่ายรวม 7.9 หมื่นล้านบาท โดยหนี้สินสกุลยูโรคิดเป็นสัดส่วน 36% หรือ 2.9 หมื่นล้านบาท (รวมการถือหุ้นใน NH Hotel 30%) แต่อย่างไรก็ตามสัดส่วนหนี้สกุลยูโรมีโอกาสสูงขึ้น หากมีการ ซื้อหุ้น NH Hotel เพิ่มจาก 35.6% ณ ก.ค.) และเป็น 44% ในเดือน ส.ค. ก่อนเข้าสู่กระบวนการทำ Tender Offer ส่วนที่เหลือ 56% (มูลค่าลงทุน 5.2 หมื่นล้านบาท) เดือน ก.ย. และคาดแล้วเสร็จ ต.ค. นี้ (ภายใต้หาก Tender Offer หมด 100% คาดภาระหนี้สุกลยูโรเพิ่มสัดส่วนเป็น 50-60%)
  ทั้งนี้หนี้ยูโรมีอัตราดอกเบี้ยต่ำ 1-2% ขณะที่แหล่งเงินที่ใช้รองรับดีล NH Hotel มีแผนออกหุ้นกู้ทั่วไป (อัตราดอกเบี้ย 2%) และ Perpetual Bond (มีแผนออก 1.5 หมื่นล้านบาท และ SWAP เป็นยูโรในอัตราดอกเบี้ย 3-4%) โดยภาระหนี้ยูโรส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาวที่มีดอกเบี้ยคงที่ 
  เชื่อว่าโอกาสในการถือหุ้น NH Hotel มากกว่า 51% เป็นไปได้สูงมาก ทำให้ MINT สามารถควบรวมกิจการของ NH Hotel เข้ามาได้ในที่สุด ซึ่งจะสร้างการเติบโตของรายได้และกำไรให้กับ MINT มากขึ้น หากพิจารณางบ NH Hotel งวด 1H61 มีรายได้ 2.9 หมื่นล้านบาท และกำไร 2.4 พันล้านบาท (ใกล้เคียงกับ MINT มีรายได้ 2.9 หมื่นล้านบาทและ กำไรสุทธิ 2.9 พันล้านบาทใน 1H61) 

Fund Flow ยังไหลออก แม้จีนกับสหรัฐตกลงเจรจากัน
  วานนี้จีนและสหรัฐฯตกลงเจรจากันเกี่ยวกับประเด็นสงครามการค้า ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลก รวมถึงเอเชียเริ่มฟื้นตัว อย่างไรก็ตามภาพรวม Fund Flow ยังไหลออกจากตลาดหุ้นทุกประเทศในภูมิภาค ด้วยมูลค่ากว่า 344 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 6) หากพิจารณาเป็นรายประเทศ พบว่า เกาหลีใต้ถูกขายสุทธิ 179 ล้านเหรียญ ตามมาด้วยอินโดนีเซีย 52 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 7), ฟิลิปปินส์ 17 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 6), ไต้หวัน 3 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิวันที่ 2) และไทยที่ต่างชาติขายสุทธิอีกกว่า 93 ล้านเหรียญ หรือ 3.01 พันล้านบาท (ขายสุทธิติดต่อกัน 3 วัน) รวมถึงชอร์ตสุทธิสัญญา SET50 Futures อีก 7.78 พันสัญญา (ชอร์ตสุทธิเป็นวันที่ 5 มูลค่ารวมกว่า 3.08 หมื่นสัญญา) ต่างกับสถาบันฯที่สลับมาซื้อสุทธิหุ้นไทย 1.53 พันล้านบาท (หลังจากขายสุทธิ 3 วัน)
  ความกังวลต่อปัจจัยภายนอกที่ผ่อนคลายลง ส่งผลให้ต่างชาติสลับมาขายสุทธิตราสารหนี้ไทยเล็กน้อย 629 ล้านบาท ส่วน Bond Yield 10 ปี ของไทยยังทรงอยู่ที่ 2.72%

กำไร 1H61 ใกล้เคียงประมาณการ..คง EPS และดัชนีเป้าหมาย 1662 จุด
  ในที่สุดการรายงานงบงวด 2Q61  สิ้นสุดลง โดยมี  กำไรสุทธิรวมที่ 2.6 แสนล้านบาท เติบโต 17.6%yoy แต่ลดลง 10.6%qoq  แยกเป็นภาค Real Sector มีกำไรสุทธิรวมกัน 1.92 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.9%yoy แต่ลดลง 13.9%qoq  และกลุ่มสถาบันการเงิน(ธุรกิจการเงิน, ธ.พ. และประกัน) กำไรสุทธิ  6.18 หมื่นล้านบาท   เพิ่มขึ้น 15.6%yoy แต่ลดลง 0.6%qoq  โดยรวมกำไรสุทธิในงวด  1H61 รวมราว 5.55 แสนล้านบาท  คิดเป็น 50% ของประมาณการทั้งปีที่ 1.1 ล้านล้านบาท  โดยหากพิจารณารายกลุ่ม แม้จะใกล้เคียงกับประมาณการ แต่มีบางกลุ่มที่ทำได้สูงกว่าคาด คือ ICT กำไร 1H61 คิดเป็น 61% ของที่ประมาณการทั้งปี ตามมาด้วยกลุ่มปิโตรเคมี 54% ขณะที่กลุ่มพลังงานและกลุ่มธ.พ ที่ 53% ส่วนที่เหลือใกล้เคียงกับประมาณการ 

หุ้นที่มีการปรับประมาณการฯ ปี 2561 ขึ้น มีรายละเอียดดังนี้ (เฉพาะตั้งแต่ 10% ขึ้นไป)
JAS ปรับกำไรสุทธิขึ้นจากเดิม 108% ซึ่งมาจากการขายเงินลงทุนใน JASIF (แต่ปรับลดกำไรปกติลง 32% จากต้นทุนที่สูงขึ้นและส่วนแบ่งกำไรที่ลดลง)
IVL ปรับกำไรสุทธิขึ้นจากเดิม 26% จาก spread ผลิตภัณฑ์ที่ดีกว่าคาดการณ์เดิมในทุกผลิตภัณฑ์
SVI ปรับกำไรสุทธิขึ้นจากเดิม 25% จากรายได้และประสิทธิภาพการทำกำไรที่ดีกว่าคาด
SCCC ปรับกำไรสุทธิขึ้นจากเดิม 16% จากอัตรา Gross margin ที่ดีขึ้น เพราะมีการจัดการต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
CHG ปรับกำไรสุทธิขึ้นจากเดิม 12% จากแนวโน้มรายได้และอัตรากำไรดีขึ้น
AEONTS ปรับกำไรสุทธิขึ้นจากเดิม 11% จากการเติบโตของสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลที่ดี

หุ้นที่มีการปรับประมาณการฯ ปี 2561 ลง มีรายละเอียดดังนี้ (เฉพาะตั้งแต่ 10% ลงไป)
TPIPL ปรับกำไรสุทธิลงจากเดิม 88% เพราะการดำเนินงานธุรกิจปูนซีเมนต์และการเกษตรช่วง 1H61 มีผลขาดทุนมากกว่าคาด
TRUE กำไรสุทธิลดลงจากเดิม 53% เนื่องจากมีการตั้งด้อยค่าโครงข่ายโทรศัพท์บ้านที่ล้าสมัย (แต่ปรับเพิ่มกำไรปกติขึ้นเพราะแนวโน้มต้นทุนลดลงเร็วกว่าสมมติฐาน)
ITD ปรับกำไรสุทธิลงจากเดิม 48% จากผลการดำเนินงาน 1H61 ที่มีฐานกำไรต่ำมาก
TPIPP ปรับกำไรสุทธิลงจากเดิม 29% จากการเลื่อน COD โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน/ขยะ 70 MW (TG7) และโรงไฟฟ้าถ่านหิน 150 เมกะวัตต์ (TG8) ออกไปจากเดิม
TFG ปรับกำไรสุทธิลงจากเดิม 26% จากธุรกิจไก่ฟื้นตัวช้ากว่าคาด และค่าใช้จ่ายพิเศษที่เกิดขึ้นในงวด 2Q61
TU ปรับกำไรสุทธิลงจากเดิม 21% จากค่าใช้จ่ายพิเศษที่เกิดขึ้นในงวด 2Q61
BCPG ปรับกำไรสุทธิลงจากเดิม 21% จากการปรับลดสมมติฐาน Capacity Factor โครงการโซลาร์ในไทยทุกโครงการ และการเลื่อน COD โครงการโซลาร์ญี่ปุ่น
BR ปรับกำไรสุทธิลงจากเดิม 20% จากรายได้รวมที่ลดลง และราคาวัตถุดิบปรับสูงขึ้น
JWD ปรับกำไรสุทธิลงจากเดิม 20% จาก Gross Margin ที่ชะลอตัวลง
EASTW ปรับกำไรสุทธิลงจากเดิม 19% จากปริมาณขายน้ำดิบ/ประปาที่ต่ำกว่าคาด
TVO ปรับกำไรสุทธิลงจากเดิม 15% จากราคากากถั่วเหลืองลดลง
SYNTEC ปรับกำไรสุทธิลงจากเดิม 14% จากความล่าช้าในการรับรู้รายได้และอัตรากำไรที่ลดลง
PYLON ปรับกำไรสุทธิลงจากเดิม 12% จากการรับรู้รายได้ที่ล่าช้าในงวด 2Q61
IRPC ปรับกำไรสุทธิลงจากเดิม 12% จากแผน shutdown ที่ไม่ได้รวมไว้ก่อนหน้านี้
GFPT ปรับกำไรสุทธิลงจากเดิม 11% จากธุรกิจไก่ฟื้นตัวล่าช้ากว่าคาด
  โดยรวมยังคงประมาณการกำไรตลาดฯ ปีนี้ที่ 1.11 ล้านล้านบาท คิดเป็น EPS ที่ 110.78  บาทต่อหุ้น และคงดัชนีเป้าหมายสิ้นปี 2561 ที่ 1662 จุด อิง P/E 15  เท่า ภายใต้สมมติฐาน fund flow ยังไม่ไหลกลับเร็ว และยังให้หนักต่อปัญหาเศรษฐกิจตุรกี ที่อาจจะขยายไปยังยุโรป และ ผลกระทบจากสงครามการค้าจีน-สหรัฐ ที่ยังมีอยู่ 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 17 ส.ค. 2561 เวลา : 10:01:14

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 3:25 am