ตลาดหนุนราคาน้ำมันดิบฟื้น แม้แนวโน้มอุปสงค์อ่อนตัว
+/- ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย หลังปรับลดลงไปกว่า 2% ในวันก่อนหน้า เนื่องจากได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาวะอุปทานน้ำมันดิบตึงตัว อย่างไรก็ตาม สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนส่งผลกระทบต่ออัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันดิบมีแนวโน้มอ่อนตัวลงกดดันราคาน้ำมันดิบ
- รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 10 ส.ค. 61 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 100,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 10.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.8 ล้านบาร์เรลจากสัปดาห์ก่อนหน้า ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นรายสัปดาห์ที่สูงที่สุดตั้งแต่เดือน มี.ค. 60 อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์คาดว่าหลังสิ้นสุดฤดูการขับขี่ในช่วงฤดูร้อน ปริมาณการผลิตและนำเข้าน้ำมันดิบของสหรัฐฯ จะมีแนวโน้มปรับตัวลดลง ส่งผลให้คาดการณ์ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ไม่ปรับตัวสูงขึ้นกว่านี้
- อุปสงค์น้ำมันดิบในภูมิภาคเอเชียแสดงสัญญาณอ่อนตัวลง หลังได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าและค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งตัว โดยปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบของผู้นำเข้ารายใหญ่ในภูมิภาคเอเชีย เช่น จีน อินเดีย เกาหลี ญี่ปุ่น และไต้หวัน มีอัตราเติบโตที่ช้าลงเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยปรับตัวลดลงจาก 3.5% มาอยู่ที่ราว 2%
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากการส่งออกน้ำมันเบนซินจากประเทศจีนที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นในเดือนส.ค. แม้จะได้รับแรงหนุนจากการปิดซ่อมบำรุงฉุกเฉินของโรงกลั่นน้ำมันในอินเดีย
ราคาน้ำมันดีเซล ปรับลดลงน้อยกว่าน้ำมันดิบดูไบ หลังตลาดกังวลต่ออุปทานที่ลดลงจากการปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่นในภูมิภาค ประกอบกับได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์จากประเทศฟิลิปปินส์ อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดีเซลยังได้รับแรงกดดันจากการส่งออกจากประเทศจีนอย่างต่อเนื่อง
ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์หน้า
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 63-68 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 68-73 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากแหล่งผลิตน้ำมันดิบ Syncrude ในแคนาดาคาดจะกลับมาดำเนินการผลิตได้เต็มกำลังภายในเดือน ส.ค. 61
การผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันดิบโอเปกและนอกโอเปกคาดจะปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังทั้งสองกลุ่มผู้ผลิตตัดสินใจปรับเพิ่มกำลังการผลิตกว่า 1 ล้านบาร์เรลต่อวันในการประชุมโอเปกในเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยในเดือน ก.ค. ที่ผ่านมากำลังการผลิตจากซาอุดิอาระเบีย คูเวต สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ปรับเพิ่มกำลังการผลิตรวมกันกว่า 170,000 บาร์เรลต่อวันจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่รัสเซีย การผลิตคาดจะเพิ่มขึ้นกว่า 200,000 บาร์เรลต่อวัน
ดัชนีและราคาที่สำคัญ
ข่าวเด่น