ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มถูกกดดันต่อเนื่อง จากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มจะปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่สอง หลังการนำเข้าน้ำมันดิบและการผลิตในประเทศมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง ประกอบกับ ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากกลุ่มโอเปกที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนี้ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนยังไม่มีแนวโน้มคลี่คลายในเร็ววัน รวมถึง ปริมาณการผลิตของลิเบียที่คาดจะปรับเพิ่มขึ้น หลังแหล่งผลิตและส่งออกน้ำมันได้กลับมาดำเนินการอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ราคายังได้รับแรงหนุนจากปริมาณการผลิตจากประเทศอิหร่านที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่องจากเดือน พ.ค. หลังถูกเผชิญกับการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
? ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดจะปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่สองติดต่อกัน หลังปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ขณะที่ ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 10 ส.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.8 ล้านบาร์เรล สวนทางกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะปรับลดลง อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้น้ำมันของสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง โดยในสัปดาห์ล่าสุด โรงกลั่นในสหรัฐฯ เพิ่มกำลังการกลั่นขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 98 ซึ่งนับเป็นระดับที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์
? อุปทานน้ำมันดิบจากกลุ่มผู้ผลิตโอเปกคาดจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังกลุ่มผู้ผลิตมีมติปรับเพิ่มกำลังการผลิตกว่า 1 ล้านบาร์เรลต่อวันในการประชุมโอเปกในเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยรายงานล่าสุดของโอเปก อุปทานจากประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คูเวต และอิรักได้ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 120,000 บาร์เรลต่อวัน ในเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ซาอุดิอาระเบียปรับลดกำลังการผลิตมาอยู่ที่ระดับ 10.39 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต่ำกว่าเดือนที่ผ่านมากว่า 52,800 บาร์เรลต่อวัน หลังได้คาดการณ์ว่าอุปสงค์น้ำมันมีแนวโน้มจะปรับลดลงจากผลกระทบของความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีน
? สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนยังไม่มีแนวโน้มคลี่คลายในเร็ววัน แม้ล่าสุดสหรัฐฯ และจีนเตรียมเจรจาการค้ารอบใหม่ปลายเดือนนี้ โดยในวันที่ 23 ส.ค. นี้ สหรัฐฯ จะเริ่มเก็บภาษีนำเข้าในอัตราร้อยละ 25 กับสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่ากว่า 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่จีนเตรียมที่จะเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ ในอัตราร้อยละ 25 กับสินค้ามูลค่า 1.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ เช่นกัน ซึ่งผลกระทบของสงครามการค้าครั้งนี้คาดว่าจะกระทบต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะการค้าโลกและส่งผลกดดันต่อความต้องการใช้น้ำมันโลก
? ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบจากลิเบียคาดเพิ่มขึ้นจากระดับ 664,000 บาร์เรลต่อวัน ในเดือน ก.ค. มาอยู่ที่ระดับเหนือ 900,000 บาร์เรลต่อวันในเร็วๆ นี้ หลังแหล่งผลิตน้ำมันดิบ Sharara ได้กลับมาดำเนินการอีกครั้งในสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งจะส่งผลให้การผลิตของประเทศลิเบียปรับเพิ่มขึ้นกว่า 160,000 บาร์เรลต่อวัน ประกอบกับ ท่าเรือส่งออกน้ำมันหลักได้แก่ Zueitina Hariga Ras Lanuf และ Es Sider ได้ทยอยกลับมาดำเนินการตามปกติแล้ว อย่างไรก็ตาม ความไม่สงบในประเทศลิเบียอาจส่งผลให้เกิดเหตุสุดวิสัยขึ้นอีก
? ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของอิหร่านในเดือน ก.ค. ปรับลดลงกว่า 56,300 บาร์เรลต่อวัน หลังได้เผชิญหน้ากับการคว่ำบาตรจากสหรัฐฯ โดยในเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านของเกาหลีใต้ได้ปรับลดลงกว่าร้อยละ 43.5 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 186,500 บาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีน ส่งผลให้จีนมีแนวโน้มที่จะยังคงนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านเพิ่มมากขึ้น
? จับตามองการเติบโตของประเทศจีนและอินเดีย ซึ่งนับเป็นผู้นำเข้าน้ำมันหลักในเอเซีย ซึ่งปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบจากทั้งสองประเทศรวมกันราวร้อยละ 12 ของทั่วโลก โดยในเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ปริมาณการนำเข้าจากจีนและอินเดียลดลงกว่า 500,000 บาร์เรลต่อวัน จากค่าเฉลี่ย 6 เดือนแรกของปี 2561 ที่ระดับ 12.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีนที่คาดจะโดนผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ
? ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่สหรัฐฯ ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการยูโรโซน และดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการสหรัฐฯ
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (13 – 17 ส.ค. 61)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลง 1.72 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 65.91 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 0.98 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 71.83 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 70.60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นสวนทางกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะปรับลดลง เนื่องจากปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมาก โดยในสัปดาห์ล่าสุด EIA รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น 6.8 ล้านบาร์เรลมาแตะระดับ 414 ล้านบาร์เรล นอกจากนี้ ราคายังได้รับแรงกดดันจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ยังคงประทุขึ้นต่อเนื่องและคาดจะส่งผลกดดันต่อความต้องการใช้น้ำมัน อย่างไรก็ตาม ราคายังได้รับแรงหนุนจากปริมาณการส่งออกของอิหร่านที่คาดจะปรับลดลง หลังถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตร โดยล่าสุดในเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา ญี่ปุ่น เกาหลี และ อินเดีย ได้ปรับลดปริมาณการนำเข้าจากอิหร่าน
ข่าวเด่น