ราคาน้ำมันดิบพุ่งกว่าร้อยละ 3 บนความกังวลต่ออุปทานอิหร่าน และสต๊อกสหรัฐฯ ที่ปรับลดมากกว่าคาด
+ ราคาน้ำมันดิบปิดตลาดปรับตัวสูงขึ้นกว่าร้อยละ 3 โดยน้ำมันดิบเบรนท์ปรับขึ้นถึงจุดสูงสุดในรอบ 3 สัปดาห์ แตะระดับ 75 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลระหว่างชั่วโมงการซื้อขาย หลังตลาดให้น้ำหนักต่อความกังวลของอุปทานอิหร่านที่ส่งสัญญาณปรับลดจากการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ นอกจากนี้ ยังได้รับแรงสนับสนุนจากการรายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับลดมากกว่าคาดการณ์
+ การคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐฯ คาดว่าจะส่งผลต่อปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่าน หลังประเทศในสหภาพยุโรปเริ่มทยอยหยุดการซื้อน้ำมันดิบ และเริ่มถอนการลงทุนจากอิหร่าน อย่างไรก็ตาม จีนยังคงเดินหน้าซื้อน้ำมันดิบจากอิหร่านอย่างต่อเนื่อง หลังข้อพิพาททางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ส่งผลให้จีนปรับลดการนำเข้าน้ำมันดิบจากสหรัฐฯ ลง
+ สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงาน (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงกว่า 5.8 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดเพียง 1.5 ล้านบาร์เรล หลังสหรัฐฯ นำเข้าน้ำมันดิบลดลงกว่า 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวันในช่วงเวลาเดียวกัน
+ ตลาดน้ำมันดิบได้รับแรงสนับสนุนทางอ้อมจากดัชนีสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง หลังนาย โดนัลด์ ทรัมป์ แสดงท่าทีไม่เห็นด้วยต่อนโยบายการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) โดยให้เหตุผลว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะการส่งออก
ราคาน้ำมันเบนซิน ตลาดปิดทำการซื้อขายเนื่องในวัน Hari Raya Haji
ราคาน้ำมันดีเซล ตลาดปิดทำการซื้อขายเนื่องในวัน Hari Raya Haji
ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 64-69 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 71-76 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
อุปทานน้ำมันดิบจากกลุ่มผู้ผลิตโอเปกคาดจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังกลุ่มผู้ผลิตมีมติปรับเพิ่มกำลังการผลิตกว่า 1 ล้านบาร์เรลต่อวันในการประชุมโอเปกในเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยรายงานล่าสุดของโอเปก อุปทานจากประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คูเวต และอิรักได้ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 120,000 บาร์เรลต่อวัน ในเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา
สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนยังไม่มีแนวโน้มคลี่คลายในเร็ววัน แม้ล่าสุดสหรัฐฯ และจีนเตรียมเจรจาการค้ารอบใหม่ปลายเดือนนี้
ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของอิหร่านมีแนวโน้มปรับลดลงหลัถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตร โดยล่าสุดในเดือน ก.ค. ปริมาณการผลิตปรับลดลงกว่า 56,300 บาร์เรลต่อวันจากเดือนก่อหน้า
ดัชนีและราคาที่สำคัญ
ข่าวเด่น