ราคาน้ำมันดิบทรงตัว หลังตลาดกังวลสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนกระทบความต้องการใช้น้ำมัน
(-/+) ราคาน้ำมันดิบทรงตัว หลังได้รับแรงกดดันจากความกังวลว่าความตึงเครียดของสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนจะกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก และความต้องการใช้น้ำมัน อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังคงได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลดลงมากกว่าคาดการณ์
(-) สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนทวีความรุนแรงมากขึ้น หลังรัฐบาลสหรัฐฯ และจีนประกาศตั้งกำแพงภาษีศุลกากร 25% กับสินค้านำเข้าของอีกฝ่ายเป็นมูลค่า 16,000ล้านดอลลาร์ ซึ่งหากรวมมาตรการทางภาษีระหว่างสองประเทศตั้งแต่ต้นเดือน ก.ค.ถึงปัจจุบัน มีมูลค่ารวมกันถึง 100,000ล้านดอลลาร์
(-) สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานว่าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ รายสัปดาห์ ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 11ล้านบาร์เรลต่อวัน ในสัปดาห์ที่ผ่านมาส่งผลให้สหรัฐฯ ขึ้นแท่นเป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่อันดับสองของโลก รองจากรัสเซีย
(+) ตลาดน้ำมันยังคงได้รับแรงหนุนจากอุปทานที่มีแนวโน้มตึงตัว จากปริมาณการผลิตของอิหร่านที่อาจปรับตัวลดลง หลังประเทศต่างๆ เริ่มปรับลดปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่าน
ราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังการซื้อขายเบาบาง อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงได้รับแรงหนุนจากปริมาณ การส่งออกน้ำมันเบนซินจากจีนที่ปรับตัวลดลง
ราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ โดยได้รับแรงกดดันจากปริมาณการส่งออกจากจีนที่ยังคงอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงได้แรงหนุนจากปริมาณการส่งออกจากอินเดียที่มีแนวโน้มปรับลดลง หลังโรงกลั่นในประเทศปิดซ่อมบำรุงฉุกเฉิน
ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์หน้า
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 64 - 69 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 71 -76 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่น่าจับตามอง
อุปทานน้ำมันดิบจากกลุ่มผู้ผลิตโอเปกคาดจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังกลุ่มผู้ผลิตมีมติปรับเพิ่มกำลังการผลิตกว่า 1 ล้านบาร์เรลต่อวันในการประชุมโอเปกในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยรายงานล่าสุดของโอเปก อุปทานจากประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คูเวต และอิรักได้ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 120,000 บาร์เรลต่อวัน ในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา
สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนยังไม่มีแนวโน้มคลี่คลายในเร็ววัน แม้ล่าสุดสหรัฐฯ และจีนเตรียมเจรจาการค้ารอบใหม่ปลายเดือนนี้
ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของอิหร่านมีแนวโน้มปรับลดลงหลัถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตร โดยล่าสุดในเดือน ก.ค.ปริมาณการผลิตปรับลดลงกว่า 56,300บาร์เรลต่อวันจากเดือนก่อหน้า
ราคาน้ำมันดิบ
ข่าวเด่น