แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (27 – 31 ส.ค. 61)
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูง จากแรงหนุนของการลดการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่าน หลังสหรัฐฯ ประกาศคว่ำบาตร ประกอบกับปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลงต่อเนื่อง จากความต้องใช้ภายในประเทศที่อยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบคาดว่าจะได้รับแรงกดดันจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และระหว่างสหรัฐฯ กับตุรกี ที่คาดว่าจะกระทบต่อเศรษฐกิจโลก และนำไปสู่การปรับลดลงของความต้องการใช้น้ำมันโลก นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันจากการประกาศขายน้ำมันดิบในคลังสำรองเชิงยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ ราว 11 ล้านบาร์เรล ที่จะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่เดือนต.ค. ถึงเดือนพ.ย. 61
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
? ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านมีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างเนื่อง หลังสหรัฐฯ ประกาศคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันดิบจากอิหร่าน และเรียกร้องให้ทุกประเทศหยุดการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านนับตั้งแต่วันที่ 4 พ.ย. นี้เป็นต้นไป ซึ่งยุโรปได้ลดการนำเข้าน้ำมันดิบอย่างต่อเนื่อง ขณะที่เกาหลีใต้หยุดการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านในเดือนนี้ นอกจากนี้ อินเดียยังนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านเพียง 650,000 บาร์เรล ตั้งแต่ต้นเดือนส.ค. เป็นต้นมา เมื่อเทียบกับเดือนก.ค. 61 ที่นำเข้าราว 24.4 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตาการนำเข้าน้ำมันดิบอิหร่านจากจีนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น
? ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดว่าจะปรับลดลง หลังโรงกลั่นคงอัตราการกลั่นในระดับสูงต่อเนื่อง โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 17 ส.ค. ปรับตัวลดลงราว 5.8 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 408.4 ล้านบาร์เรล ขณะที่อัตราการกลั่นของโรงกลั่นสหรัฐฯ ยืนอยู่ที่ร้อยละ 98.1 ต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่สอง และนับเป็นระดับที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์
? ความต้องการใช้น้ำมันโลกคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนของการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก หลังสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีนยังคงมีอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดในวันที่ 23 ส.ค. สหรัฐฯ เริ่มเก็บภาษีในอัตราร้อยละ 25 กับสินค้าของจีนมูลค่ารวมกว่า 16,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่จีนก็ออกมาตอบโต้โดยการเก็บภาษีในอัตราร้อยละ 25 กับสินค้าของสหรัฐฯ ในมูลค่ารวมเท่ากัน นอกจากนี้ ยังต้องติดตามความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับตุรกี ที่มีความเป็นไปได้ที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจ และความต้องการใช้น้ำมัน หลังสหรัฐฯ ขู่ว่าจะเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ
? จับตาการขายน้ำมันดิบในคลังสำรองเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserves หรือ SPR) ราว 11 ล้านบาร์เรล ที่จะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่เดือนต.ค. ถึงเดือนพ.ย. 61 เพื่อลดความกังวลต่อภาวะอุปทานที่อาจจะตึงตัวมากขึ้นหลังอิหร่านโดนคว่ำบาตรในช่วงเดือน พ.ย. โดยในช่วงต้นปี สหรัฐฯ ได้ทำการขายน้ำมันดิบราว 5.2 ล้านบาร์เรล จากคลังสำรองเชิงยุทธศาสตร์ไปแล้ว
ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จีดีพีไตรมาส 2/61 สหรัฐฯ รายได้ส่วนบุคคลสหรัฐฯ รายจ่ายในการบริโภคของบุคคลสหรัฐฯ อัตราการว่างงานยูโรโซนและดัชนีราคาผู้บริโภคยูโรโซน
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (20 – 24 ส.ค. 61)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.81 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 68.72 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 3.99 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 75.82 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 74 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังได้รับแรงหนุนจากความกังวลเกี่ยวกับภาวะอุปทานน้ำมันดิบตึงตัว เนื่องจากปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านมีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่จะถึงวันที่ 4 พ.ย. นี้ นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ประกอบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อ่อนค่าลง หลังนาย โดนัลด์ ทรัมป์ แสดงท่าทีไม่เห็นด้วยต่อนโยบายการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันจากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน
ข่าวเด่น