สภาวะตลาดวันที่ 04 กันยายน 2561 ราคาทองคำแกว่งตัวในกรอบที่ระดับ 1,193.50-1,202.03 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ขณะที่ราคาทองคำแท่ง 96.5% ภายในประเทศขายออกอยู่ที่ 18,600 บาทต่อบาททองคำ โดยราคาปรับตัวลดลง 100 บาท จากวันก่อนหน้าที่ระดับ 18,700 บาทต่อบาททองคำ ขณะที่โกลด์ฟิวเจอร์ส GFV18 อยู่ที่ 18,660 บาท โดยราคาปรับตัวลดลง 90 บาท จากวันก่อนหน้าที่ระดับ 18,750 บาท
(หมายเหตุ: ข้อมูลนี้จัดทำขึ้น ณ เวลา 15.51 น. ของวันที่ 04/09/61)
แนวโน้มวันที่ 05 กันยายน 2561
ปัญหาความเปราะบางของเศรษฐกิจเกิดใหม่เช่น ตุรกี ,เวเนซุเอลา ,อาร์เจนตินา ,บราซิล ,อินโดนีเซีย และอินเดีย สะท้อนผ่านความผัวผวนของสกุลเงินประเทศนั้นๆ ที่ปรับตัวอ่อนค่าลงในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา แม้ว่าจะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะในแต่ละประเทศ แต่ก็หนุนดอลลาร์จนอาจจะสร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดแรงกดดันต่อราคาทองคำ ประกอบกับสงครามการค้าที่ทวีความรุนแรงขึ้นระหว่างสหรัฐและจีน ซึ่งยังเป็นปัจจัยกดดันราคาทองคำ เมื่อประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐระบุว่าเขาพร้อมที่จะเก็บภาษีรอบใหม่มูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์ ต่อการนำเข้าสินค้าจีนทันทีที่เสร็จสิ้นการทำประชาพิจารณ์ในวันพฤหัสบดีนี้ ขณะเดียวกันนักลงทุนต่างจับตาการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ(NAFTA)ฉบับใหม่ระหว่างสหรัฐและแคนาดา ซึ่งปธน.ทรัมป์ กำลังเผชิญกับแรงกดดันจากสมาชิกในรัฐบาลสหรัฐต่อกรณีการผลักดันให้มีการทำข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ(NAFTA)ฉบับใหม่ เนื่องจากสมาชิกสภาคองเกรสต่างต้องการให้สหรัฐรวมแคนาดาเข้าไว้ในข้อตกลงฉบับใหม่ ซึ่งก่อนหน้านี้ทรัมป์ประกาศว่าหากไม่สามารถทำข้อตกลงที่เป็นธรรมสำหรับสหรัฐได้แคนาดาก็ต้องออกไป พร้อมกับระบุว่า คองเกรสไม่ควรจะเข้ามาแทรกแซงการเจรจาต่อรอง หรือมิฉะนั้นตนเองจะฉีกข้อตกลง NAFTA ทั้งหมด อย่างไรก็ตามมาร์ค โซเบล อดีตเจ้าหน้าที่กระทรวงคลังสหรัฐ กล่าวว่า การทำข้อตกลงกับแคนาดาจะต้องมีแรงกดดันสูง เพราะแคนาดาเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของหลายประเทศ ดังนั้นแนวโน้มเศรษฐกิจของเราจึงเกี่ยวพันกับแคนาดาด้วยเช่นกัน ส่งผลให้นักลงทุนจับตาการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและแคนาดาในวันพุธนี้ นอกจากนี้แนวโน้มการลงทุนสินทรัพย์ที่สดใสยังคงกดดันราคาทองคำ เมื่อมีการคาดการณ์ว่าหุ้นทั่วโลกยังอยู่ในช่วงขาขึ้นต่อเนื่องถึงปี 2562 แม้ว่ามีแนวโน้มที่จะถูกบั่นทอนจากสงครามการค้า โดยมติจากนักกลยุทธ์หุ้นและโบรกเกอร์กว่า 300 คนทั่วโลกเผยว่า ดัชนีทั้งหมดที่สำรวจโดยภาคเอกชนจะปรับขึ้นเพิ่มเติมไปจนถึงช่วงสิ้นปีหน้า ซึ่งรวมถึงคาดการณ์สำหรับการปรับขึ้นเป็นประวัติการณ์อย่างต่อเนื่องสำหรับตลาดหุ้นบางแห่ง ซึ่งมุมมองดังกล่าวกดดันทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ทั้งนี้ ทางวายแอลจีมีมุมมองว่า ราคาทองคำอาจมีการเคลื่อนไหวในกรอบและคาดว่าราคาทองคำเคลื่อนไหวในลักษณะ Sideway โดยความผันผวนของราคาและการแกว่งตัวของราคาอาจลดลงจากช่วงที่ผ่านมา โดยให้เน้นไปที่การลงทุนระยะสั้น
กลยุทธ์การลงทุน ทางวายแอลจีมีมุมมองว่า ราคาทองคำอาจมีโอกาสทดสอบแนวต้านที่ 1,214-1,217 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งนักลงทุนยังคงต้องระมัดระวังแรงขายทำกำไร เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาราคาทองคำเมื่อมีการปรับตัวขึ้นก็จะมีแรงขายทำกำไรออกมาแรงเช่นกัน โดยนักลงทุนที่สะสมทองคำไว้อาจมีการขายทำกำไรบางส่วนออกมาบ้าง โดยให้ดูว่าราคาจะผ่านแนวต้านได้หรือไม่ ถ้าสามารถผ่านไปได้แนะนำให้นักลงทุนที่รับความเสี่ยงสูงได้ถือต่อไป เพื่อไปขายทำกำไรที่แนวต้านถัดไป และหากราคาทองคำมีการปรับตัวลดลงมาไม่หลุดแนวรับ แนะนำนักลงทุนสามารถเก็งกำไร โดยให้เน้นไปที่การเข้าซื้อ ทั้งนี้ประเมินแนวรับไว้ที่ 1,194 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยมีแนวรับถัดไปอยู่ที่ 1,182 ดอลลาร์ต่อออนซ์
ทองคำแท่ง (96.50%)
แนวรับ 1,194 (18,450บาท) 1,182 (18,300บาท) 1,171 (18,100บาท)
แนวต้าน 1,217 (18,850บาท) 1,229 (19,050บาท) 1,238 (19,200บาท)
GOLD FUTURES (GFV18)
แนวรับ 1,194 (18,640บาท) 1,182 (18,460บาท) 1,171 (18,280บาท)
แนวต้าน 1,217 (19,000บาท) ,229 (19,190บาท) 1,238 (19,330บาท)
ข่าวเด่น