ราคาน้ำมันเฉลี่ยรายสัปดาห์ผันผวน โดยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 1.11 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ทึ่ 78.49 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 0.42 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 68.95 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 0.81 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 76.61 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ด้านราคาน้ำมันสำเร็จรูป ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 0.61 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 88.77 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ดีราคาน้ำมันดีเซล ลดลง 0.20 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 92.83 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
สถานการณ์การเมืองในประเทศผู้ผลิตน้ำมันตึงเครียด ในวันที่ 7 ก.ย. 61 ชาวอิรักออกมาประท้วงขับไล่รัฐบาล จากปัญหาการทุจริต และการบริหารสาธารณูปโภคล้มเหลว ผู้ประท้วงบุกโรงกำจัดน้ำเสีย สำหรับน้ำที่อัดฉีดเข้าหลุมน้ำมันในแหล่ง West Quarna 2 (ปริมาณการผลิต 400,000 บาร์เรลต่อวัน) และในวันที่ 10 ก.ย. 61 กลุ่มติดอาวุธบุกเข้าโจมตีอาคารสำนักงานใหญ่บริษัทน้ำมันแห่งชาติของลิเบีย National Oil Corp. (NOC) ในเมืองหลวง กรุง Tripoli โฆษกกองกำลังพิเศษ Special Deterrence Force (Rada) แถลงมีผู้เสียชีวิต เป็นพนักงาน NOC จำนวน 2 ราย และผู้โจมตี 2 ราย แม้ทั้งสองเหตุการณ์ไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำมันดิบ แต่เหตุดังกล่าวบ่งชี้แหล่งผลิตของของอิรักและลิเบียมีความเสี่ยงจากปัญหาการเมืองในประเทศที่อาจทำให้การผลิตน้ำมันไม่มีเสถียรภาพ
Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 7 ก.ย. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 5.3 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 396.2 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบเกือบ 3 ปีครึ่ง
Reuters รายงานแหล่ง Buzzard (กำลังการผลิต 150,000 บาร์เรลต่อวัน) ของอังกฤษในทะเลเหนือที่ปิดซ่อมบำรุงยังไม่สามารถกลับมาดำเนินการได้ตามกำหนดในวันที่ 17 ก.ย. 61 เนื่องจากสภาพอากาศเลวร้าย ทั้งนี้แหล่ง Buzzard เป็นแหล่งผลิตน้ำมันดิบ Forties ซึ่งเป็นหนึ่งในห้าของน้ำมันดิบชนิดหลักที่ใช้คำนวณราคา Dated Brent
สำนักงานเศรษฐกิจแห่งชาติจีน (General Administration of Customs หรือ GAC) รายงานปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบ เดือน ส.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 560,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 9.04 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดตั้งแต่เดือน พ.ค. 61 ขณะที่ International Energy Agency (IEA) ประเมินปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบสุทธิของจีน ในปี พ.ศ. 2562 เพิ่มขึ้นจากปีนี้ 600,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ระดับ 9.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
IEA รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่ม OPEC เดือน ส.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 420,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 32.63 ล้านบาร์เรลต่อวัน
รายงานฉบับเดือน ก.ย. 61 ของกลุ่ม OPEC ปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตของอุปสงค์น้ำมันโลกในปี พ.ศ. 2562 อยู่ที่ระดับ 1.41 ล้านบาร์เรลต่อวัน (ลดลงจากการคาดการณ์ในเดือนก่อน 20,000 บาร์เรลต่อวัน) ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันโลกมาอยู่ที่ 100.23 ล้านบาร์เรลต่อวัน
Reuters คาดว่า PDVSA บริษัทน้ำมันแห่งชาติของเวเนซุเอลาจะสามารถกลับมาส่งออกน้ำมันผ่านท่าขนส่งน้ำมัน Jose (สูบถ่ายน้ำมันลงเรือได้ 2 ล้านบาร์เรลต่อเที่ยวเรือ) ภายในปลายเดือน ก.ย. 61 หลังจากได้รับความเสียหายจากอุบัติเหตุเรือขนส่ง Naphtha ชนกับท่าเทียบเรือ South Dock หนึ่งในสามท่าเทียบเรือ (Berth) ของท่า Jose เมื่อปลายเดือน ส.ค. 61 ทั้งนี้ เวเนซุเอลาส่งออกน้ำมันดิบ ในเดือน
ก.ค. 61 อยู่ที่ 1.39 ล้านบาร์เรลต่อวัน
Reuters รายงานสหรัฐฯ ส่งออกน้ำมันดิบในเดือน พ.ย. 61 ไปยังเกาหลีใต้ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 40,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 269,000 บาร์เรลต่อวัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์
แนวโน้มราคาน้ำมัน
ราคาน้ำมันดิบปิดตลาดวันศุกร์ผันผวนจากความกังวลของนักลงทุนต่อความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน หลังประธานาธิบดีสหรัฐฯ นาย Donald Trump ประกาศเดินหน้าเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีน มูลค่าสองแสนล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อลดการขาดดุลการค้าที่สำนักงานสถิติแห่งชาติของสหรัฐฯ ระบุช่วง ม.ค.- ก.ค. 61 สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้น 7% อย่างไรก็ดี ธนาคารกลางจีนปล่อยสินเชื่อเงินกู้ระยะกลาง (Medium-term Lending) แก่ธนาคารพาณิชย์ในประเทศวงเงิน 2.65 แสนล้านหยวน หรือ 3.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ระยะเวลา 1 ปี เพื่อรองรับมาตรการภาษีระลอกใหม่ของสหรัฐฯ อนึ่งสงครามการค้าส่งผลให้ค่าเงินประเทศผู้นำเข้าน้ำมันอ่อนค่าลงอาจกระทบต่ออุปสงค์น้ำมัน ด้านมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านทำให้อินเดียลดการนำเข้าน้ำมันดิบอิหร่านลงจากปริมาณนำเข้าเฉลี่ยเดือน เม.ย.-ส.ค. 61 ที่ 658,000 บาร์เรลต่อวัน มาสู่ระดับเฉลี่ย 370,000 บาร์เรลต่อวัน ในเดือน ก.ย. – ต.ค. 61 ทั้งนี้ปริมาณส่งออกที่ลดลงส่งผลให้อิหร่านต้องเก็บน้ำมันปริมาณรวม 17 ล้านบาร์เรล ใน Floating Storage ที่ประกอบด้วย VLCC จำนวน 8 ลำ และ Suez Max จำนวน 1 ลำ อย่างไรก็ตาม Platts ระบุอุปสงค์น้ำมันในมลรัฐ North and South Carolina มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หลังพายุเฮอริเคน Florence อ่อนกำลังลง และไม่สร้างความเสียหายต่อโครงข่ายพลังงานแต่อย่างใด ล่าสุดท่าขนส่งน้ำมันบริเวณที่พายุพัดผ่านกลับมาเปิดดำเนินการวานนี้ ให้ติดตามการเคลื่อนไหวของจีนและเวเนซุเอลา ที่ล่าสุดเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทั้งสองประเทศลงนามใน MOU ความร่วมมือให้จีนผลิตน้ำมันจากแหล่ง Ayacucho บริเวณ Orinoco Belt มูลค่า 184 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทางเทคนิคสัปดาห์นี้คาดราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 76.0-80.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 67.0-71.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 74.0-78.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ บาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นเนื่องจาก Arbitrage น้ำมันเบนซิน จากสิงคโปร์ไปจีนเปิด จากความต้องการใช้ภายในประเทศของจีนอยู่ในระดับสูงจากองค์กรอุตสาหกรรมของจีน (Industry Association) รายงานยอดขายรถยนต์ ช่วง ม.ค.- ส.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3.5 % อยู่ที่ 18.1 ล้านคัน ขณะที่โควตานำเข้าน้ำมันเบนซินยังเหลืออยู่จำนวนมาก อีกทั้งบริษัท Idemitsu Kosan ของญี่ปุ่นปิดซ่อมบำรุงหน่วย Residue Fluid Catalytic Cracker หรือ RFCC (กำลังการผลิต 50,000 บาร์เรลต่อวัน) ที่โรงกลั่นน้ำมัน Aichi (กำลังการกลั่น 160,000 บาร์เรลต่อวัน) ในเดือน ก.ย. 61 ประกอบกับ Platts ประเมินว่าภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกนำเข้าน้ำมันเบนซิน จากยุโรปในเดือน ก.ย. 61 อยู่ที่ 6.25 ล้านบาร์เรล มากที่สุดในรอบ 5 เดือน เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมัน Limbe (กำลังการกลั่น 70,000 บาร์เรลต่อวัน) ของแคเมอรูนยังคงปิดซ่อมแซมและคาดว่าจะกลับมาดำเนินการในเดือน ก.ย. 61 ด้านปริมาณสำรอง International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 12 ก.ย. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.64 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 11.36 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบกว่า 10 เดือน และ Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุด 8 ก.ย. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 70,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 9.78 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้น้ำมันเบนซินของสหรัฐฯ ชะลอตัว และ EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 7 ก.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.3 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 235.9 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 2 เดือน นอกจากนั้นราคาขายปลีกในเอเชียใต้เพิ่มขึ้น ล่าสุดราคาน้ำมันเบนซินขายปลีกในอินเดียที่กรุงนิวเดลี วันที่ 1-11 ก.ย. 61 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 79.64 รูปีต่อลิตร (36.24 บาทต่อลิตร) เพิ่มขึ้นจากราคาเฉลี่ยเดือน ส.ค. 61 ที่ 77.33 รูปีต่อลิตร (35.19 บาทต่อลิตร) และกระทรวงการคลังของศรีลังกาประกาศปรับเพิ่มราคาขายปลีกน้ำมันเบนซิน 2.8 % มาอยู่ที่ 149 รูปี/ลิตร (39.75 บาท/ลิตร) มีผลตั้งแต่ 11 ก.ย. 61 เป็นการปรับเพิ่มครั้งที่ 3 ในรอบ 4 เดือน ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 86.5-90.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลงจากกระทรวงการคลังของศรีลังกาประกาศปรับเพิ่มราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล ตั้งแต่วันที่ 11 ก.ย. 61 เพิ่มขึ้น 4.2 % มาอยู่ที่ 123 รูปี/ลิตร (32.81 บาทต่อลิตร) ขณะที่บริษัท QPSPP ของกาตาร์ออกประมูลขายน้ำมันดีเซล 0.001% S ปริมาณ 228,000 บาร์เรล ส่งมอบวันที่ 1-6 ต.ค. 61 ประกอบกับราคาน้ำมันดีเซลที่สูงขึ้นทำให้การนำเข้าในหลายประเทศลดลง อาทิ ภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกนำเข้าน้ำมันดีเซลจากยุโรปในเดือน ก.ย. 61 ลดลงจากเดือนก่อน 1.39 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 5.75 ล้านบาร์เรล และปริมาณนำเข้าน้ำมันดีเซลสุทธิของบราซิลที่รายงานโดยคณะกรรมการกำกับนโยบายพลังงานแห่งชาติ เดือน ก.ค. 61 ลดลงจากเดือนก่อน 9,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 145,000 บาร์เรลต่อวัน ด้านปริมาณสำรอง PAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซล เชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุด 8 ก.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 40,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 9.94 ล้านบาร์เรล และ EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 7 ก.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 6.2 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 139.3 ล้านบาร์เรลสูงสุดในรอบ 7 เดือน อย่างไรก็ตาม IES รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 12 ก.ย. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 2.06 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 9.33 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์ และ Platts รายงานโรงกลั่นน้ำมัน Holborn (กำลังการกลั่น 105,000 บาร์เรลต่อวัน) ของบริษัท Oilinvest ในเมือง Hamburg ประเทศเยอรมนี ปิดซ่อมบำรุงใหญ่ (กำหนดซ่อมทุก 5 ปี) และจะเริ่มลดปริมาณส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปตั้งแต่วันที่ 14 ก.ย. 61 ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซล จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 90.0-94.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ข่าวเด่น