คำแนะนำ
รอดูบริเวณ 1,191-1,187 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หากหลุดลงมาให้ชะลอการซื้อออกไปเพื่อรอดูการตั้งฐานของราคา ทั้งนี้ควรคำนึงถึงการเหวี่ยงตัวของราคาทองคำที่ยังคงแกว่งตัวในกรอบแคบเหมือนช่วงที่ผ่านมา
แนวรับ-แนวต้าน
แนวรับ 1,191 1,187 1,175
แนวต้าน 1,207 1,214 1,228
ปัจจัยพื้นฐาน
ราคาทองคำวานนี้ปรับตัวลดลง 6.60 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยได้รับแรงกดดันจากผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 2.00-2.25% ในการประชุมที่เสร็จสิ้นลงวานนี้ อีกทั้งยังส่งสัญญาณว่าเฟดจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งก่อนสิ้นปีนี้ และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีหน้า ที่น่าสนใจคือเฟดได้มีการตัดข้อความที่มักจะระบุว่า นโยบายการเงินของเฟดยังคงมี “ความผ่อนคลาย : accommodative” ออกไปจากแถลงการณ์ของเฟด ขณะที่ Dot Plot ของเฟดยังมีการปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย พร้อมกันนี้ในรายงาน Economic Projections เฟดยังทำการปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์ GDP ในปีนี้และปีหน้าอีกด้วย ทำให้โดยรวมแล้วผลการประชุมครั้งนี้เป็นไปในเชิงสายเหยี่ยว(Hawkish Tone) ส่งผลให้สกุลเงินดอลลาร์แข็งค่าจนกดดันให้ราคาทองคำร่วงลงไปแตะระดับต่ำสุดบริเวณ 1,190.30 ดอลลาร์ต่อออนซ์ในระหว่างการซื้อขาย ก่อนที่ดอลลาร์จะลดช่วงบวกลงหลังจากนักลงทุนซึมซับข่าวจึงขายทำกำไรดอลลาร์ออกมาจนช่วยหนุนให้ราคาทองคำฟื้นตัวขึ้นมาปิดระดับบริเวณ 1,194.10 ดอลลาร์ต่อออนซ์ สำหรับวันนี้ติดตามการเปิดเผยประมาณการครั้งสุดท้าย GDP ไตรมาส 2/2018, ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน, สต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่ง, ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขายและจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐ
ปัจจัยทางเทคนิค
ราคาทองคำเกิดแรงขายกดดันให้ราคาอ่อนตัวลงหลังจากที่ดีดตัวขึ้นมา เบื้องต้นมีแนวต้านระยะสั้นที่ 1,207 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หากไม่สามารถผ่านไปได้ ประเมินว่าจะเกิดแรงขายกดดันมาเข้าใกล้ 1,191-1,187 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่หากสามารถยืนเหนือบริเวณแนวรับดังกล่าวได้หลายชั่วโมง มีแนวโน้มขึ้นทดสอบโซนแนวต้านอีกครั้ง
กลยุทธ์การลงทุน GOLD SPOT & GOLD FUTURES
หากสามารถยืนเหนือ 1,191-1,187 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ให้เปิดสถานะซื้อ แต่หากหลุดโซนดังกล่าวแนะนำให้ชะลอการเข้าซื้อเพื่อรอดูการตั้งฐานของราคา สำหรับการเสี่ยงเปิดสถานะขายอาจพิจารณาดูบริเวณ 1,207 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หากผ่านขึ้นไปให้ชะลอการขายไปที่ 1,214 ดอลลาร์ต่อออนซ์
ข่าวเด่น