ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ไทยออยล์ วิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำวันศุกร์ที่ 19 ต.ค.61


- ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง หลังสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์ สิ้นสุดวันที่ 12 ต.ค. 61 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.5 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องกัน 4 สัปดาห์ และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับเพิ่มขึ้นเพียง 2.2 ล้านบาร์เรล โดยปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง ณ จุดส่งมอบ คุชชิง โอกลาโฮมา ปรับเพิ่มขึ้น 1.8 ล้านบาร์เรล


- ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการส่งออกน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลง 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน และการนำเข้าน้ำมันดิบที่ปรับเพิ่มขึ้น 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน แม้ว่ากำลังการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ จะปรับลดลง 300,000 บาร์เรลต่อวัน ไปสู่ระดับ 10.9 ล้านบาร์เรลต่อวันก็ตาม

+ ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และซาอุดิอาระเบียยังคงตึงเครียด หลังประธานาธิบดีสหรัฐฯ ส่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศไปยังซาอุดิอาระเบียเพื่อให้มีการสอบสวนกรณีการหายตัวไปของนายคาช็อกกี ผู้สื่อข่าวชาวซาอุดิอาระเบียที่ชอบวิจารณ์นโยบายของมกุฎราชกุมารซาอุดิอาระเบีย ณ สถานกงสุลซาอุดิอาระเบียในนครอิสตันบูล เมื่อวันที่ 2 ต.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากมีกระแสข่าวว่ารัฐบาลซาอุดิอาระเบียอยู่เบื้องหลังการหายตัวไปของผู้สื่อข่าวรายนี้

+ นักลงทุนกังวลเกี่ยวกับอุปทานน้ำมันดิบที่จะปรับตัวลดลง หลังคาดการณ์ว่าซาอุดิอาระเบียอาจปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบเพื่อเป็นการตอบโต้ข้อกล่าวหาดังกล่าว
 
ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ จากอุปสงค์ในภูมิภาคที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ แม้ว่าโควต้าการส่งออกน้ำมันเบนซินของจีนปรับตัวลดลง และมีอุปสงค์เพิ่มเติมจากอียิปต์

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังประเทศจีนจำกัดโควต้าการส่งออกน้ำมันดีเซล อย่างไรก็ตาม อุปทานน้ำมันดีเซลในตะวันออกกลางปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.35

ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 67-72 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 78-83 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

-ภาวะตลาดน้ำมันดิบยังคงตึงตัวต่อเนื่อง หลังปริมาณการผลิตและการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดในช่วงสัปดาห์แรกของเดือน ต.ค. ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งนับเป็นการปรับลดลงค่อนข้างมากจากเดือน เม.ย. ที่ราว 2.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน

-ความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มเจริญเติบโตช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ รวมถึงราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นค่อนข้างมากมีแนวโน้มส่งผลกดดันต่อความต้องการใช้น้ำมัน โดยล่าสุด IMF ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปีนี้และปีหน้าลงมาอยู่ที่ร้อยละ 3.7

-ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่สามติดต่อกัน เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันดิบปรับตัวลดลงในช่วงการปิดซ่อมบำรุงประจำฤดูกาลของโรงกลั่นน้ำมันดิบในสหรัฐฯ

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 19 ต.ค. 2561 เวลา : 10:11:35

27-12-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ December 27, 2024, 8:20 am