กลยุทธ์การลงทุน
ตลาดยังแกว่งตัวลงคาดยังอยู่ในกรอบ 1595-1610 จุด ยังให้น้ำหนักความกังวลการขึ้นภาษีการค้ารอบใหม่ของสหรัฐต่อจีน กดดันเศรษฐกิจโลกโดยรวม สะท้อนราคาน้ำมันดิบดูไบลงเกือบ 30% ในช่วงเวลา 1 เดือนเศษ กดดันหุ้น Global (PTTEP, PTT, IVL, TOP) ขณะที่ในประเทศรัฐยังเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการใช้จ่ายครัวเรือน กลยุทธ์การลงทุนเน้นสะสมหุ้น Domestic (ROBINS, CPALL, BJC) มือถือ (ADVANC, DTAC) และสาธารณูปโภค (EASTW, TTW) ยังเลือก Top picks CPALL(FV@B80) และ ADVANC(FV@B240)
ย้อนรอยตลาดหุ้นไทยวานนี้ ….SET Index อ่อนตัวใกล้ 1600 จุด
วานนี้ SET Index แกว่งตัวอยู่ในแดนลบ และปิดที่ 1604.40 จุด ลดลง 12.93 จุด (-0.80%) มูลค่าการซื้อขาย 3.52 หมื่นล้านบาท ตลาดหุ้นไทยยังขาดปัจจัยหนุน กดดันแรงขายในหุ้นขนาดใหญ่ที่มีน้ำหนักต่อดัชนีฯ เริ่มจากจากหุ้นกลุ่มพลังงานเป็นหลัก โดย PTT PTTEP ยังปรับตัวลงต่อ 0.5% และ 1.92% ตามลำดับ จากราคาน้ำมันโลกขาลง ตามด้วยปิโตรฯ-โรงกลั่น (IVl, IRPC, TOP) ขณะที่หุ้นใหญ่อื่น อย่าง AOT เผชิญแรงขายราคาปิด 61.5 บาท ลดลง 2.4% จากผลกระทบของการเลื่อนก่อสร้าง Terminal 2 ซึ่งกระทบต่อรายได้ในอนาคต และยอดนักท่องเที่ยวเดือน ต.ค. ชะลอตัว ตรงกันข้ามหุ้นกลุ่ม Defensive ทั้ง โรงพยาบาล และสาธารณูปโภค BDMS และ EASTW ปิดบวกสวนทางตลาดฯ
แนวโน้มดัชนีวันนี้ น่าจะยังแกว่งตัวลงในกรอบ 1595-1610 จุด โดยยังให้น้ำหนักการขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนของสหรัฐ อีกครั้งมูลค่าวงเงิน 2.67 แสนเหรียญฯ ซึ่งกดดันการปรับลด GDP Growth โลกรอบใหม่ ขณะที่ในประเทศ รัฐยังออกมาตรการช่วยเหลือรากหญ้า ผ่านการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย
ดอกเบี้ยต่ำยังจำเป็นสำหรับไทยท่ามกลางความเสี่ยงจากภายนอก
ท่ามกลางสงครามการค้าโลก กระทบการส่งออกของไทย ชะลอตัวชัดเจนในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะเดือน ก.ย. ที่หดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 1 ปี 7 เดือน แม้จะฟื้นตัวในเดือน ต.ค. แต่น่าจะชั่วคราว ภาพโดยรวมน่าจะอ่อนตัวในช่วงที่เหลือของปีนี้และต่อเนื่องปี 2562 ซึ่งกดดันให้ GDP Growth 3Q61 ขยายตัว 3.3% ชะลอลงจาก 4.6% ในงวด 2Q61
นอกจากนี้เงินเฟ้อไทยที่ชะลงตัวลงอย่างต่อเนื่อง หลังจากแตะระดับสูงสุดของปีที่ 1.62% ในเดือน ส.ค. 2561 ลงมาเหลือ 1.33% ในเดือน ก.ย. และ 1.23% ในเดือน ต.ค. ซึ่งนับว่าต่ำกว่าดอกเบี้ยที่ 1.5% และคาดว่าแนวโน้มเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือ 2 เดือนที่เหลือปีนี้ ยังมีโอกาสอ่อนตัวต่อ จากราคาผักและผลไม้ที่อ่อนตัว และน้ำมันดิบดูไบที่ปรับตัวลดลงค่อนข้างเร็วดังกล่าวข้างต้น
ด้วยเหตุนี้ทำให้โอกาสการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้น้อยลง ในการประชุม กนง. ที่เหลืออีก 1 ครั้งในปีนี้ (19 ธ.ค.) คาด กนง. น่าจะยืนดอกเบี้ยฯ แต่น่าจะต้องขึ้นดอกเบี้ยฯ ราว 0.25-0.5% ปี 2562 ทั้งนี้ภายหลังจาก ASPS ได้ปรับลดประมาณการเงินเฟ้อสิ้นปี 2561 เป็น 1.55% (จากเดิม 2%) และปี 2562 ที่ 1.8% (จากเดิม 2.1%) แต่เงินเฟ้อในปี 2562 มีแนวโน้มสูงกว่าดอกเบี้ยนโยบาย
อย่างไรก็ตามสถานะการเงินของไทยยังแข็งแกร่ง สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ที่ 2.49 แสนล้านเหรียญ และเกินดุลบัญชีเดินสะพัด (ดุลการค้าเกินดุล+ดุลบริการเกินดุล)สะพัดราว 10% ของ GDP ในปี 2560 ทำให้มีเงินตราต่างประเทศไหลเข้าและมีความสามารถในการชำระสินค้าและบริการต่างประเทศได้ในระดับ 13.29 เดือน (กรณีปิดประเทศ และไม่มีรายได้เข้าประเทศ เป็นกรณีเลวร้าย)และ เช่นเดียวกับการชำระหนี้สินต่างประเทศ ของไทยพบว่าหนี้สินต่างประเทศทุก 1 เหรียญฯ มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศครอบคลุมถึง 1.6 เท่า ซึ่งถือว่าสูงเป็นลำดับ 2 รองจากจีนที่มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ 3.125 ล้านล้านเหรียญฯ ซึ่งสามารถชำระค่าสินค้าและบริการต่างประเทศได้ 20.7 เดือน และหนี้สินต่างประเทศ ทุก 1 เหรียญฯ มีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศครอบคลุมถึง 1.83 เท่า หากเกิดวิกฤติการเงินโลก ไทยน่าจะเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบเรื่องวิกฤติค่าเงินเป็นประเทศท้าย ๆ
นักวิเคราะห์ JP Morgan ตัดสมมติฐานน้ำมันลง ตามหลัง ASPS
ราคาน้ำมันดิบโลกยังปรับตัวลดลงต่อเนื่อง หลังจากที่ลดลงแล้วราว 30% นับตั้งแต่ 3 ต.ค.61 (จุดสูงสุดของปี) ล่าสุด ราคาน้ำมันดูไบอยู่ที่ 62.5 เหรียญฯ (เฉลี่ยตั้งแต่ต้นปี หรือ ytd อยู่ที่ 70.79 เหรียญฯ) ทั้งนี้แม้ฝั่งผู้ผลิตส่งสัญญาณจะปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน โดยคาดหมายว่าในการประชุม OPEC 6 ธ.ค ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย จะขยายระยะเวลาปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันที่จะสิ้นสุดปลายปีนี้ไปถึงปี 2562 พร้อมจะลดกำลังการผลิตในปีหน้าลงอีกราว 1.4 ล้านบาร์เรล/วัน แต่อาจจะมีน้ำหนักน้อยกว่าความต้องการใช้น้ำมันโลกที่มีแนวโน้มชะลอลงแรงจากผลกระทบของสงครามการค้าโลก โดยเฉพาะสหรัฐ-จีนที่เกิดขึ้นแล้ว 3 รอบ และอาจจะมีรอบที่ 4 ในต้นปีหน้า โดยเฉพาะผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่สุดของโลก คือ สหรัฐ รองลงมาคือ จีน, ญี่ปุ่น, อินเดีย, รัสเซีย
ด้วยเหตุนี้ทำให้นักวิเคราะห์พลังงานทั่วโลกทยอยปรับลดสมมติฐานน้ำมันดิบ ล่าสุด นักวิเคราะห์ JP Morgan ได้ปรับลดคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ในปี 2562 ลงราว 12.6% อยู่ที่ 73 เหรียญฯ จาก 83.5 เหรียญฯ ซึ่งสอดคล้องกับ ASPS ที่ได้ปรับลดสมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบ ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป ตั้งแต่วันที่ 7 พ.ย. ลงราว 7.1% อยู่ที่ 65 เหรียญฯ จาก 70 เหรียญฯ ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกชะลอตัว เป็นไปได้ที่ราคาน้ำมันดูไบจะต่ำกว่า 60 เหรียญฯ ในช่วงสั้น ทำให้ความเสี่ยงที่ราคาหุ้นน้ำมันจะลดลงต่อยังมีความเสี่ยงสูง จึงยังแนะนำ “switch” PTTEP (FV@B148) และ PTT (FV@B56) รวมถึงหุ้นที่อิงเศรษฐกิจจากภายนอก เช่น IVL, TOP น่าจะเผชิญแรงขายต่อเนื่อง
ต่างชาติขายหุ้นในภูมิภาค รวมถึงไทยเป็นวันที่ 3
วานนี้ต่างชาติขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคเป็นวันที่ 3 ด้วยมูลค่า 165 ล้านเหรียญ แต่มีการสลับมาซื้อเล็กน้อยอยู่ 2 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย 15 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิในวันก่อนหน้า) และฟิลิปปินส์ที่ 4 ล้านเหรียญ (หลังจากขายสุทธิในวันก่อน) ส่วนตลาดหุ้นที่เหลืออีก 3 ประเทศ ต่างชาติขายสุทธิ คือ ไต้หวันขายสุทธิ 75 ล้านเหรียญ (หลังจากซื้อสุทธิเพียงวันเดียว), เกาหลีใต้ 71 ล้านเหรียญ (ขายสุทธิเป็นวันที่ 4) และไทยขายสุทธิอีก 39 ล้านเหรียญ หรือ 1.27 พันล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 3) ต่างกับสถาบันในประเทศที่สลับมาซื้อสุทธิ 1.65 พันล้านบาท (หลังจากขายสุทธิ 6 วัน มีมูลค่ารวม 5.52 พันล้านบาท)
ส่วนทางด้านตลาดตราสารหนี้ ต่างชาติสลับมาขายสุทธิเล็กน้อย 609 ล้านเหรียญ โดยเป็นการขายเฉพาะตราสารหนี้ระยะสั้น (T<1) 1.10 พันล้านบาท แต่ยังซื้อตราสารหนี้ระยะยาว (T>1) 489 ล้านบาท (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 4 มีมูลค่ารวม 1.02 หมื่นล้านบาท) ขณะที่ Bond Yield 10 ปี ยังทรงตัวอยู่ที่ 2.73% จากที่เคยแตะระดับสูงสุดในปีนี้ที่ 2.89% ณ วันที่ 9 ต.ค. 2561
ท่ามกลางความกังวลน่าจะเป็นโอกาสสะสมหุ้นที่ยังเติบโตจากเศรษฐกิจในประเทศ
ตามที่ ASPS ได้นำเสนอถึงการปรับปรุงประมาณการฯ ปี 2562 ลง โดยปรับลดกำไรต่อหุ้น หรือ EPS ลงมาอยู่ที่ 112.2 บาท (จากเดิม 115 บาท) ส่งผลให้การเติบโตเหลือเพียง 3.4%yoy เป็นที่น่าสังเกตว่า ตลาดหุ้นภูมิภาคหลายแห่งก็มีการปรับลดประมาณการลงเช่นกัน โดยจากข้อมูล consensus ระบุว่า ตลาดหุ้นฟิลิปปินส์, จีน, มาเลเซีย, ญี่ปุ่น และฮ่องกง มีการปรับ EPS ลงในเดือน ต.ค. เมื่อเทียบกับ ก.ย. สวนทางกับตลาดหุ้นอินโดนีเซีย และตลาดหุ้นในฝั่งประเทศพัฒนาแล้ว ทั้งสหรัฐ และยุโรป มีการปรับ EPS ขึ้นในเดือน ต.ค. เมื่อเทียบกับ ก.ย. ซึ่งน่าจะได้แรงหนุนจากผลประกอบการ บจ. งวด 3Q61 ที่ออกมาดีกว่าคาด แต่ก็เชื่อว่า น่าจะต้องมีการปรับประมาณการลงในภายหลังจากผลของสงครามการค้า
อย่างไรก็ตาม ทิศทางของตลาดหุ้นไทยเริ่มมีปัจจัยบวกที่ชัดเจนขึ้นในปัจจุบัน คือ
พัฒนาการทางการเมืองใกล้สู่การเลือกตั้ง ซึ่งจากสถิติในอดีตพบว่า ในช่วง 6 เดือนก่อนมีการเลือกตั้ง (6 ครั้งหลังสุด) SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยราว 0.84% (ให้ผลตอบแทนเป็นบวก 4 ใน 6 ครั้ง) อีกทั้งยังมีเงินทุนต่างชาติไหลเข้าตลาดหุ้นไทย โดยมียอดซื้อสุทธิเฉลี่ย 2.6 พันล้านบาท (เป็นการซื้อสุทธิ 2 ใน 6 ครั้ง)
และแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่ชะลอตัว ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐลดลงจากที่แตะระดับสูงสุดที่ 3.25% เมื่อ 5 ต.ค. ที่ผ่านมา ลงมาเหลือ 3.05% ทำให้ความคาดหวังของการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐอาจจะสิ้นสุดในกลางปี 2562 แทนที่จะเป็นปี 2563 ตามที่ Fed คาดไว้ จึงน่าจะทำให้เชื่อว่าเม็ดเงินที่ไหลเข้าตราสารหนี้เริ่มอิ่มตัว และน่าจะมีการปรับพอร์ตย้ายมายังสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น และน่าจะหมุนออกมาในประเทศเกิดใหม่ ซึ่งไทยน่าจะได้อานิสงค์บ้าง
รวมถึงดัชนีที่ปรับตัวลงต่อเนื่องราว 4%mtd ทำให้ค่า P/E ลงมาระดับ 14 เท่า ถือว่าความเสี่ยงขาลงค่อนข้างจำกัด และเชื่อว่าแรงขายต่างชาติจะสิ้นสุดปีนี้ ทำให้การประเมินดัชนีเป้าหมายตลาดใน ปี 2562 อิง PER ที่ 16 เท่า ได้ดัชนีเป้าหมายของ SET Index ที่ 1795 จุด มี upside จากปัจจุบันราว 12% กลยุทธ์การลงทุน จึงยังเน้นหุ้นที่อิงกับการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ (Domestic Play) ควบคู่กับหุ้นที่ได้ประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นภาครัฐ WHA, EASTW การบริโภคในประเทศ ค้าส่ง-ค้าปลีก : ROBINS, CPALL, BJC และธุรกรรมการใช้มือถือ : DTAC, ADVANC
ข่าวเด่น