กระทรวงสาธารณสุข กำชับจังหวัดพื้นที่เสี่ยงได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อนปาบึก โดยเฉพาะจังหวัดนครศรีธรรมราช สงขลา ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี จัดแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ประจำศูนย์อพยพ ให้การดูแลสุขภาพประชาชน สุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม การป้องกันควบคุมโรค
ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ประชุมศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) ส่วนกลาง และประชุมทางไกลผ่านระบบวิดีโอกับผู้บริหาร 16 จังหวัดที่อาจได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อน “ปาบึก” (PABUK) และให้สัมภาษณ์ว่า ได้ติดตามสถานการณ์และการดูแลด้านการแพทย์และสาธารณสุขผู้บริหารใน 16 จังหวัด ที่จะได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อนปาบึก โดยเฉพาะจังหวัดนครศรีธรรมราช ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี สงขลา กระบี่ พังงา และภูเก็ต ได้กำชับให้จัดแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ประจำศูนย์อพยพเพื่อให้การดูแลสุขภาพประชาชน สุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม การป้องกันควบคุมโรค เช่น โรคอุจจาระร่วง ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ โรคมือเท้าปากและโรคหัดในเด็ก
รวมทั้งย้ายกลุ่มผู้ป่วยติดเตียงมายังจุดที่ปลอดภัยเช่นที่ศูนย์อพยพหรือโรงพยาบาล ดูแลเจ้าหน้าที่ขนย้ายของสำคัญที่บ้านไว้ในที่สูงและจัดที่พักที่ปลอดภัย เพื่อลดความกังวล มีกำลังใจปฏิบัติงานอย่างเต็มที่ รวมทั้งเตรียมระบบสื่อสาร ศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการ 1669 เพิ่มเจ้าหน้าที่พร้อมให้การช่วยเหลือประชาชน
สำหรับพื้นที่เสี่ยงเช่น นครศรีธรรมราช ซึ่งพายุปาบึกเคลื่อนผ่านในวันนี้ได้ดำเนินการตามแผนที่เตรียมไว้แล้ว ทั้งการป้องกันอาคารสถานที่ สำรองยา อาหาร น้ำ ออกซิเจน เครื่องปั่นไฟ แผนการรับส่งต่อผู้ป่วย รวมทั้งจัดแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุขไปประจำศูนย์อพยพ 31 แห่ง ย้ายผู้ป่วยติดเตียงมาดูแลที่ศูนย์อพยพหรือที่โรงพยาบาลที่อยู่ใกล้ เช่น รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช รพ.ปากพนัง รพ.สิชล รพ.ขนอม ย้ายผู้ป่วยจากรพ.เฉลิมพระเกียรติไปรักษาต่อที่รพ.เชียรใหญ่ และได้รับรายงานเมื่อเวลา 14.00 น. มีน้ำท่วมทางเข้ารพ.ปากพนังสูงประมาณ 1 เมตร ได้ส่งผู้ป่วยหนัก 8 รายไปรักษาต่อที่รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช และรพ.มหาราชนครศรีธรรมราช เสาไฟฟ้าหัก ทำให้ไฟฟ้าดับ ใช้เครื่องปั่นไฟสำรอง เปิดให้บริการได้ ได้เปิดศูนย์พักพิงดูแลผู้ป่วยและญาติที่ไม่สามารถเดินทางกลับประมาณ 100 คน สำรองเตียงผู้ป่วย 50 เตียง และไอซียู 8 เตียง
ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้อพยพผู้ป่วยติดเตียงจากหมู่บ้านชายทะเลมาพักที่ศูนย์ผู้ป่วยติดเตียง ที่รพ.บางสะพานน้อย รพ.ทับสะแก และโรงเรียนบางสะพานวิทยา ย้ายผู้ป่วยหนัก 10 คนจากรพ.บางสะพาน มีรพ.ประจวบคีรีขันธ์เป็นแม่ข่ายในการส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลต่าง ๆ และเปิดโรงพยาบาลสนามที่โรงเรียนบางสะพานวิทยา โดยมีทีมมินิ-เมิร์ท จากรพ.สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 17 จังหวัดสุพรรณบุรี รพ.กระทุ่มแบน รพ.สมุทรสงครามมาสนับสนุน พร้อมเครื่องมือแพทย์ และเตียงสังเกตอาการ 9 เตียง
ส่วนกลางสนับสนุนยาและเวชภัณฑ์ไปช่วยเหลือ 9 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร ยะลา สุราษฎร์ธานี ตรัง พัทลุง สงขลา สตูล นครศรีธรรมราช และปัตตานี ประกอบด้วย ยาชุดน้ำท่วม 27,000 ชุด ยาน้ำกัดเท้า 3,000 หลอด เสื้อชูชีพ 650 ชุด สำรองไว้ที่ส่วนกลาง ยาชุดน้ำท่วม 24,811 ชุด ยาน้ำกัดเท้า 5,150 หลอด เสื้อชูชีพ 820 ชุด หน้ากากอนามัย 215,000 ชิ้น พร้อมสำรองยาชุดน้ำท่วมไว้ที่สำนักงานควบคุมโรคเขต 5, 11, 12 รวม 8,000 ชุด
“ขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสารและปฏิบัติตามคำแนะนำของทางราชการ ขอให้อยู่ในอาคารที่แข็งแรงมั่นคง ไม่อยู่ใกล้ต้นไม้สูง ป้ายโฆษณา เสาไฟฟ้า ระวังอุบัติเหตุจากการจมน้ำ อุบัติเหตุจราจร ไฟฟ้าดูดไฟฟ้าช็อต และอันตรายจากสัตว์มีพิษที่หนีน้ำ เตรียมยาประจำตัว หากบาดเจ็บ เจ็บป่วยฉุกเฉิน โทร 1669”
ข่าวเด่น