ความคืบหน้าสถานการณ์ปัญหามลพิษทางอากาศจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ที่ก่อตัวบริเวณกว้างจนก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน
ในวันนี้ (31 ม.ค.2562) นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้เปิดเผยว่า จากการประสานข้อมูลคุณภาพอากาศกับกรมควบคุมมลพิษ เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2562 เวลา 05.00 น. พบว่า มีจังหวัดที่มีปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) เฉลี่ย 24 ชั่วโมง เกินค่ามาตรฐาน คือ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) เกินค่ามาตรฐาน 100 ในกรุงเทพมหานคร และ 5 จังหวัด ได้แก่
-กรุงเทพมหานคร (ริมถนนกาญจนาภิเษก เขตบางขุนเทียน แขวงบางนา เขตบางนา แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ ริมถนนดินแดง แขวงดินแดง เขตดินแดง ริมถนนพระราม 4 เขตปทุมวัน ริมถนนอินทรพิทักษ์ เขตธนบุรี ริมถนนลาดพร้าว เขตวังทองหลาง แขวงพญาไท เขตพญาไท แขวงพลับพลา เขตวังทองหลาง)
-นนทบุรี (ตำบลบางกรวย อำเภอบางกรวย ตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด)
-ปทุมธานี (ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง)
-สมุทรปราการ (ตำบลทรงคะนอง และตำบลตลาด อำเภอพระประแดง ตำบลบางเสาธง อำเภอบางเสาธง)
-สมุทรสาคร (ตำบลอ้อมน้อย อำเภอกระทุ่มแบน ริมถนนคู่ขนานพระราม 2 อำเภอเมืองสมุทรสาคร)
-นครปฐม (ตำบลนครปฐม อำเภอเมืองนครปฐม)
ทั้งนี้ มีค่า PM2.5 ระหว่าง 69 - 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และ AQI มีค่าระหว่าง 116 – 210 ซึ่งคุณภาพอากาศอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ และบางพื้นที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ
นายชยพล กล่าวอีกว่า ปภ.ได้สนับสนุนการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยฉีดพ่นน้ำเพิ่มความชื้นและลดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศอย่างต่อเนื่อง พร้อมจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์ ติดตามข้อมูลคุณภาพอากาศและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมถึงดำเนินการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มงวดในการตรวจสอบ ตรวจจับรถที่มีควันดำเกินค่าที่กฎหมายกำหนด และดำเนินมาตรการควบคุมการเผาอย่างเคร่งครัด อีกทั้งประชาสัมพันธ์ผลกระทบของหมอกควันต่อสุขภาพอนามัย ข้อมูลคุณภาพอากาศ และคำแนะนำในการปฏิบัติตนแก่ประชาชน ตลอดจนขอความร่วมมือประชาชนใช้รถโดยสารสาธารณะ งดเว้นการเผาขยะและเศษวัสดุทางการเกษตร เพื่อป้องกันสถานการณ์มิให้รุนแรงมากขึ้น
สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีปริมาณฝุ่นละอองสูง ให้ใช้ผ้าเช็ดหน้าหรือหน้ากากอนามัยปิดปากและจมูกและหลีกเลี่ยงการประกอบกิจกรรมในที่โล่งแจ้งเป็นเวลานาน เพื่อป้องกันมิให้สูดดมฝุ่นละอองขนาดเล็กเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพ ส่วนผู้ขับขี่ให้เพิ่มความระมัดระวังในการใช้รถใช้ถนนเป็นพิเศษ เพราะทัศนวิสัย ในการมองเห็นเส้นทางอยู่ในระดับต่ำ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนน สำหรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ สามารถติดต่อได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานแก้ไขปัญหาโดยด่วนต่อไป
สำหรับการเตรียมการของกรุงเทพมหานคร (กทม.)ได้จัดเตรียมโดรน 50 ตัว พ่นละอองน้ำในจุดที่วิกฤติ โดยเช้าวันนี้ (31 ม.ค.) กทม.เริ่มปฏิบัติการบินโดรนพ่นน้ำลดฝุ่นในอากาศ โดยตั้งฐานการบิน 6 จุด
จุดที่ 1 ฐานบินบริเวณลานคนเมือง
จุดที่ 2 ฐานบินบริเวณวัดพระศรีมหาธาตุ (บางเขน)
จุดที่ 3 ฐานบิน ม.เกษตรฯ
จุดที่ 4 ฐานบินสวนจตุจักร ทำการบินบริเวณห้าแยกลาดพร้าว
จุดที่ 5 ฐานบินสวนลุมพินี ทำการบินบริเวณอนุสาวรีย์ ร.6 และถนนพระราม 4
จุดที่ 6 ฐานบินสะพานพระราม 9 ฝั่งพระนคร เขตบางคอแหลม
สำหรับการปฏิบัติการแก้วิกฤติครั้งนี้ จะเป็นการลดฝุ่นละออง 3 ระดับความสูง ได้แก่ ระดับบนสุด ใช้โดรนจะบินฉีดพ่นละอองน้ำ โดยโดรนแต่ละเครื่องจะมีรัศมีทำการบินประมาณ 2 กิโลเมตร ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของพื้นที่ และสามารถบรรทุกน้ำได้ประมาณ 10 ลิตร สำหรับขึ้นไปฉีดพ่นละอองน้ำในอากาศ ซึ่งการบินแต่ละครั้งจะสามารถบินได้ประมาณ 20 นาที จากนั้นจะต้องลงมาเปลี่ยนแบตเตอรี่และเติมน้ำสำหรับฉีดพ่น รวมแต่ละจุดจะใช้เวลาปฏิบัติการประมาณ 1 ชั่วโมง และจะใช้เฉพาะน้ำสะอาดฉีดพ่นเท่านั้น ไม่ได้ใช้โมลาส หรือกากน้ำตาล
ระดับที่ 2 จะเป็นขั้นตอนที่รถน้ำจากสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และสำนักสิ่งแวดล้อม จะฉีดฝอยละอองน้ำขึ้นไปในอากาศ
ระดับที่ 3 เจ้าหน้าที่ของสำนักงานเขตพื้นที่จะกวาดและล้างทำความสะอาดตามบนพื้นจราจร ทางเท้า และที่สาธารณะทั่วไป
ข่าวเด่น