ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ไทยออยล์คาดการณ์ "ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มถูกกดดัน หลังตลาดกังวลภาวะเศรษฐกิจถดถอย และปริมาณน้ำมันดิบสหรัฐฯ สูงขึ้น"


บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดย บมจ.ไทยออยล์: ฉบับวันที่ 19 สิงหาคม 2562


 
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 52 – 57 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 56 - 61 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

 
 
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (19 – 23 ส.ค. 62)

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวลดลง หลังความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มชะลอตัวจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา หลังอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ระยะสั้นสูงกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว ส่งผลให้ตลาดกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย ประกอบกับ ปริมาณน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังท่อขนส่งน้ำมันในสหรัฐฯ สามารถส่งออกน้ำมันดิบจากแหล่ง Permian ไปยังท่าส่งออกในรัฐเท็กซัสได้เป็นครั้งแรก อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุนจากปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางที่ปรับตัวลดลงโดยเฉพาะ ซาอุดิอาระเบีย และอิหร่าน นอกจากนี้ ตลาดจับตาผลการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่อาจมีทิศทางดีขึ้น หลังจีนเตรียมหารือกับสหรัฐฯ เพิ่มเติม

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

-ตลาดน้ำมันดิบมีแนวโน้มถูกกดดันจากตัวเลขเศรษฐกิจทั่วโลกที่อ่อนแอซึ่งส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมันที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง หลังอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เกิดภาวะ inverted yield curve ซึ่งบ่งชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอย เป็นผลจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นอายุ 2 ปี ปรับตัวสูงกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวอายุ 10 ปี เนื่องจากนักลงทุนมองว่าเศรษฐกิจ ในระยะสั้นอาจชะลอตัวลงจึงตัดสินใจเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยสูงมากขึ้น
โดยเฉพาะพันธบัตรระยะยาว นอกจากนี้ ตัวเลขการเติบโตของอุตสาหกรรมจีนเดือน ก.ค. 62 ปรับเพิ่มขึ้นน้อยกว่าเดือน มิ.ย. 62 อยู่ที่ร้อยละ 4.8 จากระดับร้อยละ 6.3 ซึ่งเป็นตัวเลขระดับต่ำที่สุดในรอบ 17 ปี

-ปริมาณน้ำมันดิบสหรัฐฯ คาดปรับตัวสูงขึ้น หลัง สหรัฐฯ สามารถส่งออกน้ำมันดิบจากแหล่ง Permian ไปยังท่าส่งออก Corpus Christi รัฐเท็กซัสได้เป็นครั้งแรกผ่านท่อขนส่งน้ำมัน Cactus II โดยกำลังการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 9 ส.ค. 62 ทรงตัวอยู่ในระดับสูงที่ 12.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ประกอบกับ ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับเพิ่ม 1.6 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 441 ล้านบาร์เรล เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า

-สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนมีทิศทางดีขึ้น หลังสหรัฐฯ ประกาศเลื่อนการปรับขึ้นภาษีสินค้าจากจีนรอบใหม่ออกไปเป็นวันที่ 15 ธ.ค. 62 จากเดิมที่มีกำหนดบังคับใช้ในวันที่ 1 ก.ย.นี้ โดยสินค้าที่ได้รับการชะลอเก็บภาษีรอบใหม่ได้แก่ คอมพิวเตอร์แลพท็อป โทรศัพท์มือถือ เครื่องเล่นวิดีโอเกม จอคอมพิวเตอร์ ของเล่นบางชนิด รองเท้า และเสื้อผ้า เป็นต้น ส่วนสินค้าที่เหลือจะถูกเก็บภาษีนำเข้าในอัตราร้อยละ 10 ในวันที่ 1 ก.ย.นี้ ตามแผนเดิม โดยการเลื่อนบังคับใช้มาตราการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน เพราะสหรัฐฯ ต้องการป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในช่วงเทศกาลคริสมาสต์ นอกจากนี้ ทางจีนเปิดเผยว่าจะจัดการ
เจรจาประเด็นข้อพิพาททางการค้ากับสหรัฐฯ ภายในสัปดาห์หน้า

-ปริมาณน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางมีแนวโน้มปรับตัวลดลง หลังซาอุดิอาระเบียมีแผนที่จะรักษาระดับปริมาณส่งออกน้ำมันดิบให้ต่ำกว่า 7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ส.ค. และ ก.ย. 62 ประกอบกับกลุ่มโอเปก 11 ประเทศ ยังคงมีแผนปรับลดกำลังการผลิตลง 0.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ปริมาณน้ำมันดิบจากอิหร่านมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง หลังมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ที่เข้มงวดขึ้น ส่งผลให้การส่งออกน้ำมันดิบจากอิหร่านในเดือน ก.ค. 62 ปรับลดลงราว 130,000 บาร์เรลต่อวัน สู่ระดับ 400,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดตั้งแต่ปี 2523

-เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จีดีพีไตรมาส 2/62 ของเยอรมนี ดัชนีภาคการผลิตของยูโรโซนเดือน ส.ค. 62 ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐฯ เดือน ส.ค. 62 และจับตารายงานนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางยุโรป

 
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (12 – 16 ส.ค. 62)

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่ม 0.37 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 54.87 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่ม 0.11 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 58.64 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 58.03 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยราคาน้ำมันดิบได้รับแรงหนุนหลังสหรัฐฯ ประกาศเลื่อนการปรับขึ้นภาษีสินค้าจากจีนบางรายการรอบใหม่ออกไปเป็นวันที่ 15 ธ.ค. 62 จากเดิมที่มีการกำหนดบังคับใช้ในวันที่ 1 ก.ย. 62 ประกอบกับ ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบจากอิหร่านในเดือน ก.ค. 62 ปรับลดลงสู่ระดับ 400,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดตั้งแต่ปี 2523 นอกจากนี้ ซาอุดิอาระเบียมีแผนที่จะรักษาระดับปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบให้ต่ำกว่า 7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ส.ค. และ ก.ย. 62 ทางด้านกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตรยังคงปรับลดกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่องตามข้อตกลงที่ระดับ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ตัวเลขเศรษฐกิจทั่วโลกมีทิศทางอ่อนแอ หลังเกิดภาวะอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นของสหรัฐฯ อยู่สูงกว่าพันธบัตรระยะยาว ซึ่งทางสถิติบ่งชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจมีแนวโน้มเผชิญภาวะถดถอย ประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจของจีนและเยอรมนีออกมาในทิศทางที่อ่อนตัวลง

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 19 ส.ค. 2562 เวลา : 17:01:52

24-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 24, 2024, 5:09 pm