ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 48-53 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 53-58 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (10-14 ก.พ. 63)
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวลดลง หลังตลาดยังคงกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งกดดันความต้องการใช้น้ำมันดิบโดยเฉพาะอย่างยิ่งในจีน หลังบริษัทน้ำมันหลายแห่งในจีนเตรียมปรับลดกำลังการผลิตเนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังได้รับปัจจัยสนับสนุน หลังตลาดคาดการณ์ว่ากลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตรจะปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบเพิ่มเติมราว 500,000-600,000 บาร์เรลต่อวัน จากข้อตกลงเดิม ซึ่งจะมีการประชุมในวันที่ 14-15 ก.พ. 63
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มถูกกดดัน จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ส่งผลทำให้มีผู้เสียชีวิตทั่วโลกสูงมากกว่า 500 ราย ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในจีนซึ่งเป็นต้นกำเนิดของการแพร่ระบาดของโรคนี้
บริษัท มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส ระบุว่าสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศจีน โดยเฉพาะภาคการขนส่ง การค้าปลีก และการท่องเที่ยวที่ลดลง ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจของจีนขยายตัวน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยคาดการณ์จีดีพีจีนในปี 2563 จะเติบโตที่ระดับร้อยละ 5.8 ซึ่งชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับปี 2562 ที่เติบโตที่ระดับร้อยละ 6.1
ความต้องการใช้น้ำมันในจีนปรับลดลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำมันอากาศยาน เนื่องจากบริษัทสายการบินหลายแห่งทั่วโลกได้ประกาศยุติให้บริการเที่ยวบินหรือสั่งลดเที่ยวบินที่เดินทางไป-กลับจีน เพื่อต้องการยุติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนานอกจากนี้ ปริมาณการผลิตน้ำมันสำเร็จรูปในจีนปรับลดลง หลังบริษัทน้ำมันแห่งชาติของจีนอย่าง Sinopec เตรียมปรับลดกำลังการผลิตราว 600,000 บาร์เรลต่อวัน ในเดือน ก.พ. 63 ประกอบกับโรงกลั่นน้ำมันหลายรายในเขต Shandong ปรับลดกำลังการผลิตซึ่งคิดเป็นร้อยละ 30-50
สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สิ้นสุด ณ วันที่ 31 มกราคม 63 ปรับตัวสูงขึ้น 3.4 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 435 ล้านบาร์เรล ซึ่งมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะปรับขึ้นเพียง 2.8 ล้านบาร์เรล ปริมาณน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวลดลง หลังตลาดคาดการณ์ว่ากลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตรจะปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบเพิ่มเติมราว 500,000-600,000 บาร์เรลต่อวัน จากข้อตกลงเดิมที่ปรับลด 1.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในการประชุมกลุ่มโอเปกวันที่ 14-15 ก.พ. 63
เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคจีนเดือน ม.ค. 63 ดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐฯ เดือน ม.ค. 63 จีดีพียูโรโซนไตรมาส 4/63 ดัชนียอดขายปลีกสหรัฐฯ เดือน ม.ค. 63
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (3 - 7 ก.พ. 63)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 1.24 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 50.32 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 3.69 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 54.47 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 54.45 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยราคาน้ำมันดิบปรับลดลงหลังตลาดกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน ทั้งนี้ Goldman Sachs คาดการณ์ว่าผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนาจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยเฉพาะอย่างยิ่งในจีน โดยปรับลดคาดการณ์จีดีพีจีนปี 2563 ลงจากระดับร้อยละ 5.9 ไปเป็นร้อยละ 5.5 ทางด้าน บริษัท BP ได้คาดการณ์ว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาจะส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมันของโลกในปี 2563 ราว 300,000 ถึง 500,000 บาร์เรลต่อวัน คิดเป็นร้อยละ 0.5 ของความต้องการใช้น้ำมันของโลก
ข่าวเด่น