ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ไทยออยล์คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 7-11 ก.ย. 63 และสรุปสถานการณ์ฯ 31 ส.ค. - 4 ก.ย. 63


ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 37-42 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 40-45 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
 
 
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (7 – 11 ก.ย. 63)
 
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มชะลอตัว หลังพายุเฮอริเคนลอร่าได้อ่อนกำลังเป็นพายุโซนร้อนและไม่ได้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อแหล่งผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ส่งผลให้กำลังการผลิตมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากแท่นขุดเจาะน้ำมันในอ่าวเม็กซิโกกลับมาดำเนินการผลิตอีกครั้ง นอกจากนี้ ความต้องการใช้น้ำมันยังถูกกดดันจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มียอดผู้ติดเชื้อรายวันสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ตลาดยังได้รับแรงหนุนจากตัวเลขดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐฯ และจีนที่ปรับตัวสูงขึ้น
 
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
 
- ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มชะลอตัว หลังพายุเฮอริเคนลอร่าได้อ่อนกำลังเป็นพายุโซนร้อนและไม่ได้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อแหล่งผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ทั้งนี้ กำลังการผลิตน้ำมันดิบในอ่าวเม็กซิโก สหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น หลังจากที่ก่อนหน้านี้บริษัทต่างๆ ได้พากันอพยพคนงานออกจากแท่นขุดเจาะน้ำมันและระงับการผลิตชั่วคราว
 
- สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานกำลังการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มประเทศโอเปกในเดือน ส.ค. 63 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.98 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 21.87 ล้านบาร์เรลต่อวัน หลังซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และคูเวต ปรับเพิ่มกำลังการผลิตสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม บริษัทน้ำมันแห่งชาติอาบูดาบี (ADNOC) ประกาศลดการจัดสรรน้ำมันดิบให้ลูกค้าลง 30% ในเดือน ต.ค. 63 เพื่อชดเชยที่ประเทศปรับลดการผลิตน้อยกว่าเป้าหมายของกลุ่มโอเปกและพันธมิตรในช่วงก่อนหน้านี้ 
 
- ความต้องการใช้น้ำมันยังถูกกดดันจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หลังจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันปรับตัวสูงขึ้นในหลายประเทศ เช่น อินเดีย เกาหลีใต้ และเมียนมา โดยกระทรวงสาธารณสุขอินเดียรายงาน ณ วันที่ 3 ก.ย. 63 ว่า พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นอีกกว่า 82,000 คน นับเป็นยอดที่สูงที่สุดในโลก และไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาด ทางด้านรัฐบาลเกาหลีใต้ได้มีประกาศยกระดับมาตรการควบคุมทางสังคมที่เข้มงวดมากขึ้น 
 
- ตลาดยังกังวลเกี่ยวกับการพื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ หลังอัตราการจ้างงานในภาคเอกชนของสหรัฐฯ เดือน ส.ค. 63 ปรับเพิ่มขึ้นเพียง 0.42 ล้านตำแหน่ง ซึ่งน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับเพิ่มขึ้น 0.95 ล้านตำแหน่ง นับเป็นการปรับเพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาดการณ์เดือนที่สองติดต่อกัน
 
- ตัวเลขดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐฯ และจีนปรับตัวสูงขึ้น โดยดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐฯ (PMI) ในเดือนส.ค. 63 ปรับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 56.0 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่เดือน พ.ย. 61และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (PMI) ของจีนในเดือน ส.ค. 63 ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 53.1 ซึ่งเป็นการปรับขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4
 
- เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคจีนเดือน ส.ค. 63 นโยบายทางการเงินและอัตราดอกเบี้ยธนาคารกลางยุโรป จีดีพียูโรโซนไตรมาส 2/2563  
 
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (31 ส.ค – 4 ก.ย. 63) 
 
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 3.20 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 39.77 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สำหรับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 2.39 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 42.66 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 43.92 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยราคาน้ำมันดิบได้รับแรงหนุนจากรายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ของ EIA ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 28 ส.ค. 63 ปรับตัวลดลงกว่า 9.4 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลงเพียง 1.9 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม ตลาดยังถูกกดดันจากความต้องการใช้น้ำมันที่ยังคงอ่อนแอจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีผู้ติดเชื้อปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง 

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 08 ก.ย. 2563 เวลา : 11:31:02

23-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 23, 2024, 8:02 pm