ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 38-43 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล


ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 38-43 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 40-45 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
 
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (21 – 25 ก.ย. 63)
 
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มผันผวน หลังพายุเฮอริเคนซัลลี่ถล่มอ่าวเม็กซิโกและพื้นที่ชายฝั่งสหรัฐฯ ทำให้แท่นขุดเจาะน้ำมันดิบสหรัฐฯ ต้องหยุดดำเนินการผลิตราว 0.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน และยังมีแนวโน้มสร้างความเสียหายต่อบริเวณดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นผลของการประชุมกลุ่มโอเปกในวันที่ 17 ก.ย. ที่ผ่านมา เป็นไปตามที่ตลาดคาดว่ากลุ่มโอเปกจะยังคงลดกำลังการผลิตลงตามข้อตกลงเดิมที่ระดับ 7.7 ล้านบาร์เรลต่อวันจนถึงปลายปี 63 
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
 
- ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังพายุเฮอริเคนซัลลี่ (Sally) ถล่มอ่าวเม็กซิโก ทำให้แท่นขุดเจาะน้ำมันดิบสหรัฐฯ ต้องหยุดดำเนินการผลิตราว 0.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยพายุเฮอริเคนซัลลี่ได้ขึ้นพื้นที่ชายฝั่งภาคใต้ของสหรัฐฯ ในวันพุธที่ 16 ก.ย. ด้วยความรุนแรงในระดับ 2 จากทั้งหมด 5 ระดับ และทำให้หลายโรงกลั่นในบริเวณดังกล่าวต้องหยุดหรือลดกำลังการผลิตด้วย เช่น โรงกลั่น Phillip 66 หยุดดำเนินการ (255,600 บาร์เรลต่อวัน) และโรงกลั่น Shell ดำเนินการผลิตในระดับต่ำสุด (227,400 บาร์เรลต่อวัน) อย่างไรก็ตามคาดว่าผู้ผลิตน่าจะเริ่มทะยอยกลับมาดำเนินการผลิตอีกครั้งในสัปดาห์หน้า   
 
- ผลการประชุมของกลุ่มโอเปกในวันที่ 17 ก.ย. ที่ผ่านมา เป็นไปตามที่ตลาดคาด คือกลุ่มโอเปกยังคงลดกำลังการผลิตลงตามข้อตกลงเดิมที่ระดับ 7.7 ล้านบาร์เรลต่อวันจนถึงปลายปี 63 และทางกลุ่มยังคงกดดันประเทศที่ผลิตเกินข้อตกลงให้ลดกำลังการผลิตลงเพื่อชดเชย โดยยืดระยะเวลาให้ลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมจนถึงสิ้นปี 63 ซึ่งทำให้ ADNOC ประกาศลดการส่งออกน้ำมันดิบลงร้อยละ 25 ในเดือน พ.ย.63  ทำให้ภาพรวมความร่วมมือของกลุ่มโอเปกในการลดกำลังการผลิตในเดือน ส.ค.63 คาดการณ์อยู่ที่ระดับ 97% ซึ่งเป็นระดับที่สูงเมื่อเทียบกับเดือน ก.ค. 63 ที่ระดับ 89%
 
- ตลาดยังคงกังวลกับการฟื้นตัวของความต้องการใช้น้ำมันที่อาจจะกลับมาช้ากว่าที่คาดหวัง สำนักงานพลังงานสากล (IEA) ปรับลดตัวเลขคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันในปี 63 ลงราว 0.2 ล้านบาร์เรลต่อวันเมื่อเทียบกับคาดการณ์เมื่อเดือนก่อน โดยคาดการณ์อยู่ที่ระดับ 91.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวค่อนข้างช้า และความกังวลต่อการเกิดการแพร่ระบาดระลอกสองของโควิด-19 ซึ่งจะกดดันความต้องการใช้น้ำมันอีกครั้ง ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขที่คาดการณ์โดยกลุ่มโอเปก ที่ปรับลดตัวเลขคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันในปี 63 ลงราว 0.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับประมาณการเมื่อเดือนก่อน
 
- สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (National Bureau of Statistics, NBS) รายงานกำลังการผลิตของโรงกลั่นในจีนอยู่ที่ระดับ 14 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน ส.ค. 63 ซึ่งสูงขึ้นคิดเป็นร้อยละ 9.9 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปริมาณน้ำมันดิบที่นำเข้าสูงในช่วงต้นปี อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้น้ำมันในภูมิภาคยังอ่อนแอ ทำให้การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปส่วนเกินจากจีนจะกดดันตลาดโดยรวม 
 
- สถาบันปิโตรเลียมด้านพลังงานสหรัฐฯ (API) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 11 ก.ย. 63 ปรับตัวลดลง 9.5 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์ที่คาดการณ์ว่าจะปรับเพิ่มขึ้น 1.3 ล้านบาร์เรล สอดคล้องกับสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สิ้นสุด ณ สัปดาห์เดียวกัน ปรับลดลง 4.4 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 496 ล้านบาร์เรล เป็นระดับที่ต่ำสุดนับตั้งแต่ เม.ย.63 ขณะที่กำลังการผลิตของโรงกลั่นน้ำมันสหรัฐฯ ปรับสูงขึ้น 4% เมื่อเทียบกับสัปดาห์ที่ผ่านมา แสดงถึงความต้องการใช้น้ำมันในสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น 
 
- ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.00-0.25% จนกว่าอัตราเงินเฟ้อจะสูงกว่าระดับเป้าหมายที่ 2% และธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังส่งสัญญาณที่จะคงระดับดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับดังกล่าวจนถึงปี 66 นอกจากนั้นเฟดยังได้ปรับเพิ่มประมาณการการหดตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ปี 63 จากเดิมที่คาดว่าจะหดตัวที่ระดับ 6.5% เป็นหดตัว 3.7% โดยเป็นผลของอัตราว่างงานของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวดีขึ้น และทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มฟื้นตัว 
 
- เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและภาคบริการของกลุ่มยูโรโซน สหราชอาณาจักรและสหรัฐฯ เดือน ก.ย.63 รายงานจำนวนยอดผู้ขอรับสิทธิประโยชน์สวัสดิการว่างงานสหรัฐฯ รายงานการประชุมของคณะกรรมการธนาคารกลางญี่ปุ่น

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (14 – 18 ก.ย. 63) 
 
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวขึ้น 3.78 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 41.11 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สำหรับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวขึ้น 3.32 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 43.15 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 43.14 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยราคาน้ำมันดิบผันผวน เนื่องจากกำลังการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบจากการถล่มของพายุเฮอริเคนซัลลี่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ประกอบกับจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกยังคงพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลกดดันต่อเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 21 ก.ย. 2563 เวลา : 12:40:44

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 3:39 am