ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 37-42 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 39-44 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (28 ก.ย. – 2 ต.ค. 63)
ราคาน้ำมันดิบยังคงเคลื่อนไหวในระดับต่ำ หลังตลาดยังคงกังวลเกี่ยวกับความต้องการใช้น้ำมันที่อ่อนแอ่ เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสหราชอาณาจักรได้ประกาศใช้มาตรการเข้มงวดทางสังคมอีกรอบ หลังจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายวันเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้งในรอบเกือบ 4 เดือน นอกจากนี้ ปริมาณน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับเพิ่ม เนื่องจากลิเบียเตรียมปรับเพิ่มกำลังการผลิต หลังบริษัทน้ำมันแห่งชาติลิเบีย (NOC) ประกาศยกเลิกภาวะฉุกเฉิน อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำมันดิบสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวลดลง หลังกำลังการผลิตได้รับผลกระทบจากพายุที่พัดขึ้นฝั่งบริเวณตอนกลางของอ่าวเม็กซิโก
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
- จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องยังคงกดดันความต้องการใช้น้ำมันโลก โดยสหราชอาณาจักรพบยอดผู้ป่วยสะสมมีจำนวนอย่างน้อย 409,729 ราย เพิ่มขึ้น 6,178 ราย ในวันที่ 23 ก.ย. 63 นับเป็นสถิติรายวันที่สูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 63 และเพิ่มขึ้นจากสถิติเมื่อวันที่ 22 ก.ย. 63 ที่ 1,252 ราย
- รัฐบาลสหราชอาณาจักรประกาศใช้มาตรการเข้มงวดทางสังคมเป็นเวลา 6 เดือน เพื่อสกัดการระบาดของโรคโควิด-19 โดยให้มีการทำงานที่บ้าน ผับ บาร์ ร้านอาหาร และสถานที่รับรองอื่นๆ ให้ปิดในเวลา 22.00 น. ตั้งแต่วันที่ 23 ก.ย. เป็นต้นไป ขณะที่ธนาคารแห่งอังกฤษ (บีโออี) แสดงความกังวลต่ออัตราการว่างงานในประเทศว่าอาจมีแนวโน้มเพิ่มเป็น 7.5% ภายในสิ้นปีนี้ สูงกว่า 4.1% เมื่อไตรมาส 2/63 หากภาครัฐไม่ดำเนินการเพิ่มเติม
- อุปทานน้ำมันดิบได้รับแรงกดดันจากการที่ลิเบียเตรียมปรับเพิ่มกำลังการผลิต หลังบริษัทน้ำมันแห่งชาติลิเบีย (NOC) ประกาศยกเลิกภาวะฉุกเฉิน (Force majeure) และเริ่มกลับมาปฏิบัติงานที่หลุมขุดเจาะน้ำมันดิบอีกครั้ง หลังกองกำลังแห่งชาติลิเบียได้บุกยึดและสั่งปิดท่าเรือขนส่งน้ำมันดิบไปตั้งแต่เดือน ม.ค. 63 โดยล่าสุดท่าส่งออกน้ำมันของลิเบียได้เริ่มกลับมาดำเนินการแล้ว และคาดการณ์ว่าภายในสิ้นเดือน ก.ย. นี้ ลิเบียจะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ที่ระดับ 0.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากระดับปัจจุบันที่ระดับ 0.09 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- ตลาดคาดจะได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 18 ก.ย. 63 ปรับตัวลดลง 1.6 ล้านบาร์เรล ซึ่งลดลงเป็นสัปดาห์ที่ 2 ติดต่อกัน นอกจากนี้ กำลังการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ ปรับลดลง 0.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ไปอยู่ที่ระดับ 10.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน สาเหตุจากพายุเฮอริเคนแซลลี่ ขณะที่ EIA คาดการณ์กำลังการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 25 ก.ย. 63 จะลดลง 0.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยได้รับผลกระทบจากพายุหมุนเขตร้อนเบต้าที่พัดขึ้นฝั่งบริเวณตอนกลางของอ่าวเม็กซิโก
- เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (PMI) จีนเดือน ก.ย. 63 ซึ่งคาดการณ์ว่าจะปรับตัวลดลง เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ดัชนีราคาผู้บริโภคยูโรโซนเดือน ก.ย. 63 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือน ส.ค. 63 จีดีพีสหรัฐฯ ไตรมาส 2/63 และการจ้างงานนอกภาคการเกษตรสหรัฐฯ เดือน ก.ย. 63 มีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (21 – 25 ก.ย. 63)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 0.86 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 40.25 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สำหรับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 1.23 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 41.92 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 42.12 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยราคาน้ำมันดิบผันผวน เนื่องจากความกังวลจากจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายใหม่ในหลายประเทศทั่วโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในสหราชอาณาจักรที่อาจทำให้มีการประกาศปิดประเทศอีกครั้ง รวมถึงความกังวลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่อาจได้รับแรงกดดันหลังแผนกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มล่าช้า อย่างไรก็ตาม ตลาดได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 18 ก.ย. 63 ปรับตัวลดลง 1.6 ล้านบาร์เรล
ข่าวเด่น