ราคาน้ำมันถูกกดดันต่อเนื่อง จากอุปทานน้ำมันดิบส่วนเกินจากลิเบียที่ปรับเพิ่มขึ้น แรงหนุนจากพายุซีต้าที่ถล่มแท่นขุดเจาะน้ำมันสหรัฐฯ
บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ โดย บมจ.ไทยออยล์: ฉบับวันที่ 2 พฤศจิกายน 2563
ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 34-39 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 35-40 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (2-6 พ.ย. 63)
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มได้รับแรงกดดัน จากกำลังการผลิตและการส่งออกน้ำมันดิบลิเบียที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังบริษัทน้ำมันแห่งชาติลิเบียยกเลิกภาวะเหตุสุดวิสัย ทำให้ลิเบียสามารถกลับมาดำเนินการผลิตและส่งออกน้ำมันดิบได้อีกครั้ง ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกยังคงถูกกดดันอย่างต่อเนื่อง หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มสูงโดยเฉพาะทวีปยุโรป อย่างไรก็ตาม ราคาได้รับแรงหนุนจากการถล่มของพายุเฮอริเคนซีต้าในอ่าวเม็กซิโก ทำให้การขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติสหรัฐฯ ต้องหยุดดำเนินการชั่วคราว นอกจากนั้น ในสัปดาห์นี้ตลาดควรจับตาผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ในวันที่ 3 พ.ย. ซึ่งจะมีผลต่อนโยบายด้านพลังงานสหรัฐฯ และคาดว่าจะส่งผลต่อราคาน้ำมัน
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
- การผลิตน้ำมันดิบของลิเบียมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เนื่องจากบริษัทน้ำมันแห่งชาติลิเบีย (Libya’s National Oil Corp, NOC) ประกาศยกเลิกภาวะเหตุสุดวิสัย (Force Majeure) หลังกองกำลังยึดท่าส่งออกและหลุมน้ำมันดิบ ทำให้ต้องหยุดการส่งออกน้ำมันราว 8 เดือนที่ผ่านมา โดย NOC คาดการณ์ว่าจะสามารถส่งออกน้ำมันดิบได้ราว 0.8 ล้านบาร์เรลต่อวันภายใน 2 สัปดาห์และมีแนวโน้มแตะระดับ 1 ล้านบาร์เรลต่อวันภายใน 4 สัปดาห์ หลังจากที่ได้มีการยกเลิก Force Majeure ที่ท่าเรือส่งออกขนาดใหญ่ Es Sider และ Ras Lanuf
- ความต้องการใช้น้ำมันยังคงถูกกดดันจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งผู้ติดเชื้อทั่วโลกแตะระดับมากกว่า 42 ล้านคนและมียอดผู้เสียชิวิตกว่า 1 ล้านคน โดยเฉพาะประเทศในแถบยุโรปและอเมริกาที่มียอดผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มสูงมาก ทำให้หลายประเทศ อาทิ เยอรมนี ฝรั่งเศส สวิสเซอร์แลนด์ อิตาลี และรัสเซีย ต้องดำเนินมาตราการล็อคดาวน์อีกครั้งเพื่อลดการแพร่ระบาด
- สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 23 ต.ค. ปรับตัวสูงขึ้น 4.3 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 492.4 ล้านบาร์เรล ซึ่งปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ว่าจะปรับเพิ่มขึ้น 1.2 ล้านบาร์เรล ทั้งนี้การผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯปรับสูงขึ้นแตะระดับ 11.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบเริ่มกลับมาดำเนินการผลิตอีกครั้งหลังพายุเฮอริเคนเดลต้าเคลื่อนตัวและสงบลง
- ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงหนุนอีกครั้งจากพายุเฮอริเคนซีต้าซึ่งนับเป็นพายุอันดับที่ 11 ที่เคลื่อนตัวผ่านอ่าวเม็กซิโก สหรัฐฯ ทำให้แท่นขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติต้องอพยพพนักงานและหยุดดำเนินการผลิตน้ำมันดิบบริเวณอ่าวเม็กซิโกกว่า 0.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยในปี 63 มีจำนวนพายุที่เข้าถล่มอ่าวเม็กซิโกมากกว่าปกติที่เฉลี่ยปีละ 6 ลูก
- ซาอุดิอาระเบีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตหลักของกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตร (โอเปกพลัส) เปิดเผยว่าจะพิจารณาถึงความต้องการใช้น้ำมันโลกที่ยังฟื้นตัวได้ค่อนข้างช้ากว่าที่คาดเนื่องจากการแพร่ระบาดรอบสองของโควิด-19 ทั่วโลก รวมถึงอุปทานส่วนเกินที่เพิ่มขึ้นจากลิเบีย ประกอบกับค่าการกลั่นของโรงกลั่นที่อยู่ระดับต่ำ ก่อนจะพิจารณาปรับเพิ่มกำลังการผลิตในช่วง ม.ค. 64 ที่จะเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันอีก 2 ล้านบาร์เรลต่อวันตามข้อตกลงเดิม อย่างไรก็ตามความต้องการใช้น้ำมันจีนมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น จากเศรษฐกิจจีนที่มีการฟื้นตัว อาจเป็นปัจจัยสนุบสนันให้กลุ่มโอเปกพลัสพิจารณาปรับเพิ่มกำลังการผลิต
- การเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 3 พ.ย. นี้ กลับมาเป็นที่น่าจับตาอีกครั้ง ขณะที่ล่าสุดประธานาธิบดีสหรัฐฯ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ยอมรับว่า สหรัฐฯ อาจไม่สามารถออกมาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ เพื่อเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้ทันก่อนการเลือกตั้ง เนื่องจากยังไม่ได้ข้อสรุปถึงรายละเอียดมาตราการในที่ประชุมระหว่างสภาคองเกรสและวุฒิสภา ในขณะที่หลายประเทศในยุโรปผ่านมาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ อิตาลีอนุมัติมาตราการช่วยธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 มูลค่า 6.38 ล้านเหรียญสหรัฐฯ รวมถึงการลดหย่อนภาษีและกองทุนการเลิกจ้างงาน (Lay-off funds) และเยอรมนีที่กำลังพิจารณาเพิ่มเพดานหนี้ในปี 64 จากเดิมที่ระดับ 96 พันล้านยูโร เป็นที่ระดับ 120 พันล้านยูโร เพื่อเตรียมออกมาตราการเศรษฐกิจเพิ่มเติม รวมทั้งการยืดระยะเวลามาตราการช่วยเหลือเดิม จากสิ้นสุดในปี 63 เป็นช่วงกลางปี 64
- เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและภาคบริการสหรัฐฯเดือนต.ค. (Markit Manufacturing PMI and Markit Services PMI), การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯวันที่ 3 พ.ย. รายงานการประชุมของคณะกรรมการธนาคารกลางญี่ปุ่นและของสหราชอาณาจักร (Bank of Japan Monetary Policy Meeting Minutes and Bank of England Monetary Policy Report) การตัดสินใจเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ (Fed Interest Rate Decision)
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (26 - 30 ต.ค. 63)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 4.06 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 35.79 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สำหรับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 4.31 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 37.46 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 37.27 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังได้รับแรงกดดันจากความต้องการใช้น้ำมันที่ชะลอตัวจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้หลายประเทศทั่วโลกต้องกลับมาดำเนินการล็อคดาวน์อีกครั้ง เพื่อลดการแพร่ระบาด นอกจากนี้ราคาน้ำมันดิบเผชิญแรงกดดันจากความไม่แน่นอนของมาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ
ข่าวเด่น