ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 40-44 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 41-46 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (23 - 27 พ.ย. 63)
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวในกรอบแคบ หลังตลาดยังคงกังวลต่อความต้องการใช้น้ำมัน เนื่องจากยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังคงปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้มีการกลับมาบังคับใช้มาตรการเข้มงวดทางสังคม เช่นในสหรัฐฯ และยุโรป นอกจากนี้ ปริมาณน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น หลังลิเบียปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบมาอยู่ที่ระดับ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในช่วงกลางเดือน พ.ย. 63 ประกอบกับนอร์เวย์เตรียมปรับเพิ่มกำลังการผลิตอีก 30,000 บาร์เรลต่อวันภายในสิ้นปีนี้ อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงได้รับแรงหนุนจากข่าวดีเรื่องการพัฒนาการผลิตวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 หลังมี 2 บริษัทออกมารายงานผลการทดสอบวัคซีนว่าประประสิทธิภาพสูงถึงร้อยละ 95
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
- ความต้องการใช้น้ำมันยังคงถูกกดดันจากตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ที่ยอดผู้ติดเชื้อรายวันทำสถิติสูงสุดเมื่อวันที่ 14 พ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้รัฐนิวยอร์คประกาศให้ร้านอาหาร ผับ บาร์ และสนามกีฬาในร่มต้องปิดในเวลา 22.00 น. โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 13 พ.ย. ที่ผ่านมา
- ประเทศในกลุ่มยุโรป เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี และอิตาลี ยังคงประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ต่อเนื่องจนถึงสิ้นเดือน พ.ย. 63 เพื่อยกระดับการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกดดันต่อความต้องการใช้น้ำมัน
- กำลังการผลิตน้ำมันดิบในลิเบียช่วงกลางเดือน พ.ย. 63 ปรับเพิ่มสูงขึ้นไปแตะที่ระดับ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นจากเดือน ต.ค. 63 และ ก.ย. 63 ที่ผลิตอยู่ที่ระดับ 0.4 และ 0.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน หลังจากหยุดดำเนินการผลิตนานกว่า 8 เดือน
- บริษัท Equinor ในนอร์เวย์ มีแผนเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบ 30,000 บาร์เรลต่อวัน จากแหล่งผลิตน้ำมัน Johan Sverdrup โดยคาดว่าการผลิตจะไปแตะที่ระดับ 500,000 บาร์เรลต่อวัน ภายในสิ้นปี 2563
- ราคาได้รับแรงหนุนจากความคืบหน้าการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่มีแนวโน้มดีขึ้น ล่าสุดบริษัท Pfizer และ BioNTech ได้ประกาศผลการทดลองครั้งใหม่ว่าวัคซีนสามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้สูงกว่าร้อยละ 95 และกล่าวว่าองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) จะสามารถใช้อำนาจตามมาตรการฉุกเฉิน (emergency use authorization หรือ EUA) ปล่อยวัคซีนสู่สาธารณชนได้อีกไม่กี่วันข้างหน้า ขณะที่บริษัท Moderna ได้ประกาศผลความสำเร็จของการทดลองวัคซีน พบว่ามีประสิทธิภาพป้องกันโควิด-19 ได้ถึงร้อยละ 94.5 และยังสามารถเก็บได้ในอุณหภูมิตู้เย็น 2-8 องศาเซลเซียส และเก็บได้นาน 30 วัน ซึ่งถือว่าดีกว่าวัคซีนของบริษัท Pfizer ที่ต้องเก็บในอุณหภูมิ -70 องศาเซลเซียส
- เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทนสหรัฐฯ เดือน ต.ค. 63 จีดีพีสหรัฐฯ ไตรมาส 3/63 ดัชนีภาคการผลิตยูโรโซน เดือน พ.ย. 63 และรายงานผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ และธนาคารกลางยุโรป
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (16 - 20 พ.ย. 63)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 2.02 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 42.15 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สำหรับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 2.18 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 44.96 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 44.35 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังได้รับแรงหนุนจากความคืบหน้าของการผลิตวัคซีนต้านเชื้อไวรัสโควิด-19 ของบริษัท Moderna ซึ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้สูงถึงร้อยละ 94.5 และบริษัท Pfizer รายงานผลการทดสอบวัคซีนปรับตัวดีขึ้นโดยมีประสิทธิภาพสูงถึงร้อยละ 95 ซึ่งมากกว่าข้อมูลที่เปิดเผยในสัปดาห์ก่อนที่ระดับร้อยละ 90 นอกจากนี้ กลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตรมีแนวโน้มที่จะขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังการผลิตที่ 7.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ออกไปอีก 3-6 เดือน จากเดิมที่จะสิ้นสุดในปลายปีนี้ เนื่องจากตลาดยังคงเผชิญกับความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และอุปทานที่เพิ่มขึ้นจากลิเบีย ทั้งนี้กลุ่มผู้ผลิตจะมีการประชุมในวันที่ 30 พ.ย. และ 1 ธ.ค. 63 เพื่อพิจารณาถึงนโยบายการปรับลดกำลังการผลิต
ข่าวเด่น