แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (28 ธ.ค. 63 – 1 ม.ค. 64)
ราคาน้ำมันมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูง หลังได้รับแรงหนุนจากความคืบหน้าของวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของบริษัท Pfizer-BioNTech และบริษัท Moderna ประกอบกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะฟื้นตัวดีขึ้น หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) มีมติในการคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับร้อยละ 0.00-0.25 และยังคงซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ตลาดยังถูกกดดันจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังมียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลก ส่งผลให้อังกฤษประกาศยกระดับมาตรการล็อคดาวน์ที่เข้มงวดมากขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
- ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูง จากผลความคืบหน้าเกี่ยวกับการพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 ซึ่งช่วยส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยปัจจุบันมี 2 บริษัทที่ให้ประสิทธิภาพการป้องกันไวรัสได้สูงกว่า 90% ได้แก่ บริษัท Pfizer-BioNTech และบริษัท Moderna
- วัคซีนของบริษัท Pfizer-BioNTech ได้มีการเริ่มใช้โดยสหราชอาณาจักรเป็นชาติแรก โดยรัฐบาลเริ่มโครงการแจกจ่ายวัคซีนให้กับประชาชนเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 63 ทางด้านแคนาดาได้เริ่มโครงการแจกวัคซีนโควิด-19 เป็นครั้งแรกในวันที่ 15 ธ.ค. 63 และในสหรัฐฯ แพทย์ประจำโรงพยาบาลกลางซานฟรานซิสโกซัคเกอร์เบิร์กได้รับวัคซีนเป็นครั้งแรกในวันที่ 15 ธ.ค. 63
- วัคซีนของบริษัท Moderna มีความคืบหน้ามากขึ้น หลังผลการวิเคราะห์ขององค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ (FDA) ระบุว่าวัคซีนมีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด-19 สูงถึง 94% ซึ่งมีแนวโน้มในการอนุมัติใช้กับประชาชนในสหรัฐฯ เป็นกรณีฉุกเฉินภายในไม่กี่วันข้างหน้า ซึ่งนับเป็นวัคซีนตัวที่ 2 ต่อจากวัคซีนที่พัฒนาโดยบริษัท Pfizer-BioNTech โดยยุโรปจะพิจารณาขออนุมัติองค์การอาหารและยาในวันที่ 21 ธ.ค. 63 และคาดว่าจะได้เริ่มฉีดเข็มแรกในวันที่ 29 ธ.ค. 63
- เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น หลังคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) มีมติเป็นเอกฉันท์ในการคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับร้อยละ 0.00-0.25 และระบุว่าจะยังคงซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) วงเงินรวมกว่า 1.2 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อเดือน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
- ตลาดจับตาการเจรจาในสภาคองเกรส เกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เพื่อช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และการออกกฎหมายงบประมาณชั่วคราว ซึ่งหากไม่สามารถหาข้อสรุปได้ จะส่งผลให้หน่วยงานรัฐบาลจำเป็นต้องปิดหน่วยงานลง (ชัตดาวน์) เนื่องจากขาดแคลนงบประมาณในวันที่ 19 ธ.ค. 63 และแรงงานที่ตกงานจะไม่ได้รับเงินชดเชยจากสวัสดิการว่างในวันที่ 26 ธ.ค. 63
- การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงกดดันตลาดน้ำมัน หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งทำให้หลายประเทศต้องประกาศมาตรการล็อคดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด เช่น กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ประกาศมาตรการล็อกดาวน์ยกระดับจากระดับสูงเป็นระดับสูงมากเมื่อวันที่ 16 ธ.ค. ที่ผ่านมา หลังหลายประเทศในยุโรป เช่น เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์ ประกาศขยายมาตรการล็อคดาวน์ไปจนกระทั่งต้นปี 64
- เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จีดีพีสหรัฐฯ ไตรมาส 3/63 ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนสหรัฐฯ เดือน พ.ย. 63 การตัดสินใจเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยจีน และความเชื่อมั่นผู้บริโภคยูโรโซนเดือน ธ.ค. 63
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (21 – 25 ธ.ค. 63)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 2.53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 49.10 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สำหรับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 2.29 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 52.26 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 51.20 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังได้รับแรงหนุนจากความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 เนื่องจากองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) อนุมัติการใช้วัคซีนของบริษัท Pfizer ที่ร่วมกับบริษัท BioNTech และมีบางประเทศเริ่มฉีดวัคซีนเข็มแรกแล้ว เช่น สหราชอาณาจักร แคนาดาและสหรัฐฯ นอกจากนี้ ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 11 ธ.ค. 63 ปรับลดลง 3.1 ล้านบาร์เรล ไปอยู่ที่ระดับ 500 ล้านบาร์เรล ซึ่งลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าจะลดลงเพียง 1.9 บาร์เรล
ข่าวเด่น