ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 61-66 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 64-69 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (8 - 12 มี.ค. 64)
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูง หลังได้รับแรงหนุนจากอุปทานที่ยังคงตึงตัวต่อเนื่อง หลังกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตร รวมถึง ซาอุดิอาระเบีย คงการปรับลดกำลังการผลิตที่ระดับเดิมออกไปอีก 1 เดือนจนถึง เดือน เม.ย. 64 นอกจากนี้ ราคายังได้รับแรงหนุนจากมาตรกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มูลค่า 1.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะผ่านการเห็นชอบและสามารถลงนามได้ก่อนวันที่ 15 มี.ค. ซึ่งเป็นกำหนดการณ์ที่มาตรการช่วยเหลือเดิมจะหมดอายุลง อย่างไรก็ตาม ราคาคาดจะได้รับแรงกดดันจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะทยอยกลับมาดำเนินการผลิตน้ำมันดิบได้ตามปกติในอาทิตย์นี้ และปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หลังโรงกลั่นใช้ระยะเวลานานกว่าที่คาดการณ์ไว้ในการกลับมาดำเนินการตามปกติ
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
- การประชุมของกลุ่มโอเปกและชาติพันธมิตรหรือโอเปกพลัส ในวันที่ 4 มี.ค. มีมติคงการปรับลดกำลังการผลิตที่ระดับ 7.05 ล้านบาร์เรลต่อวันออกไปสิ้นสุดเดือน เม.ย. 64 ขณะที่ ซาอุดิอาระเบียขยายระยะเวลาการปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมอีก 1 ล้านบาร์เรลต่อวันออกไปอีก 1 เดือนเช่นกันและจะพิจารณาอีกครั้งว่าจะเริ่มเพิ่มกำลังการผลิตเมื่อใด อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้ผลิตอนุญาตให้รัสเซียและคาซัคสถานปรับเพิ่มกำลังการผลิตขึ้น 0.13 และ 0.02 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตามลำดับ โดยภาพรวมจะส่งผลให้กำลังการผลิตปรับลดลง 7.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ 8.05 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ กลุ่มผู้ผลิตจะมีการประชุมอีกครั้งในวันที่ 1 เม.ย. เพื่อพิจารณาปริมาณการผลิตหลังจากเดือน พ.ค. เป็นต้นไป
- มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มูลค่ากว่า 1.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะสามารถบังคับใช้ได้ก่อนวันที่ 15 มี.ค. ซึ่งเป็นวันที่มาตรการช่วยเหลือผู้ว่างงานสหรัฐฯ จากผลกระทบของโควิด-19 จะหมดลง ซึ่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ แล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณาของวุฒิสภาสหรัฐฯ ก่อนที่จะส่งให้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ลงนามรับรอง ทั้งนี้ หากสามารถดำเนินการได้เร็ว จะส่งผลให้เศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมันของสหรัฐฯ ฟื้นตัวขึ้น
- จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากหลายประเทศมีการฉีดวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ในเชิงรุก และล่าสุดสหรัฐฯ มีการอนุมัติใช้วัคซีนต้านไวรัสของบริษัทฯ Johnson & Johnson ซึ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันที่สูง โดยการฉีดเพียงแค่เข็มเดียว ส่งผลให้หลายประเทศโดยเฉพาะในยุโรป เตรียมผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์และเริ่มกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าล่าสุด สหรัฐฯ จะสามารถผลิตวัคซีนได้เพียงพอกับประชากรวัยผู้ใหญ่ทุกคนก่อนเดือน พ.ค. 64 หรือคิดเป็นประมาณ 2 เดือนก่อนกำหนดการเดิม
- สถานการณ์พายุหิมะและอุณหภูมิที่ลดลงต่ำสุดในรอบ 30 ปี ในรัสเท็กซัสเริ่มคลี่คลายลง โดยล่าสุดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ปรับขึ้น 0.3 ล้านบาร์เรลต่อวันจากสัปดาห์ก่อนหน้า มาแตะระดับ 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ S&P Global Platts คาดว่าผู้ผลิตจะสามารถกลับไปสู่ระดับปกติก่อนที่จะประสบปัญหาได้ภายในอาทิตย์นี้ ขณะที่โรงกลั่นน้ำมันคาดจะใช้ระยะเวลานานกว่าในการกลับมาดำเนินการตามปกติ ซึ่งอาจจะใช้ระยะอีกราวอย่างน้อยอีกราว 2 สัปดาห์
- ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น หลังความต้องการใช้น้ำมันดิบในสหรัฐฯ คาดว่าจะฟื้นตัวในระดับจำกัด หลังโรงกลั่นน้ำมันกลับมาดำเนินการตามปกติช้ากว่าที่กำหนด ขณะที่ปริมาณการผลิตกลับมาไวกว่าที่กำหนดไว้ โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 26 ก.พ. 64 ปรับเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบประวัติการณ์ที่ 21.6 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าจะปรับลดลง
- ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลังผู้ผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ ปรับเพิ่มการขุดเจาะน้ำมันดิบขึ้นต่อเนื่อง โดย ล่าสุด Baker Hughes รายงานจำนวนหลุมขุดเจาะน้ำมันดิบสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5 แท่นมาสู่ระดับ 402 แท่นสูงสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ค. 63
- เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานสหรัฐฯ GDP ไตรมาส 4 ของยูโรโซน ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมยูโรโซนเดือน ม.ค. 64 และการประชุมธนาคารกลางยุโรป
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (1 - 5 มี.ค. 64)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 4.59 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 66.09 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับปรับเพิ่มขึ้น 3.23 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 69.36 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 66.54 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังกลุ่มโอเปกพลัสมีมติปรับคงการลดกำลังการผลิตต่อเนื่องไปอีก 1 เดือน พร้อมทั้ง ซาอุดิอาระเบียที่ขยายระยะเวลาในการปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติม 1 ล้านบาร์เรลต่อวันออกไปอีก 1 เดือนเช่นกัน นอกจากนี้ ราคายังได้รับแรงหนุนจากความคืบหน้าของการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 รวมถึง ความคืบหน้าของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มูลค่า 1.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่ล่าสุดได้ผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ แล้วและอยู่ระหว่างการพิจารณาของวุฒิสภาสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ราคายังได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบประวัติการณ์ โดย EIA รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 26 ก.พ. ปรับเพิ่มขึ้น 21.6 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลง 0.9 ล้านบาร์เรล
ข่าวเด่น