ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 63-68 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล\ ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 66-72 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (15 - 19 มี.ค. 64)
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูง หลังได้รับแรงหนุนเนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มูลค่า 1.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ผ่านการอนุมัติโดยสภา คาดว่าแผนกระตุ้นเศรษฐกิจนี้จะสามารถบังคับใช้ได้ภายในวันที่ 15 มี.ค. ซึ่งเป็นกำหนดการที่มาตรการช่วยเหลือเดิมจะหมดอายุลง นอกจากนี้ราคายังได้รับแรงหนุนจากสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ทั่วโลกที่ยังลดลงประกอบกับการขยายระยะเวลาการลดการผลิตที่ระดับเดิมออกไปอีก 1 เดือน ทำให้อุปทานจากกลุ่มยังคงลดลงต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบคาดว่าจะได้รับแรงกดดันจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ทยอยกลับมาเป็นปกติ ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันดิบของโรงกลั่นสหรัฐฯ ยังกลับมาไม่มากนัก
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
- มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มูลค่ากว่า 1.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯได้รับการรับรองโดยประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา และจะมีผลบังคับใช้ได้ก่อนวันที่ 15 มี.ค. ซึ่งเป็นวันที่มาตรการช่วยเหลือผู้ว่างงานสหรัฐฯ จากผลกระทบของโควิด-19 จะหมดลง ส่งผลให้ตลาดคาดการณ์ว่ามาตรการนี้จะส่งผลให้การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ลดลง และมีผลให้เศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมันของสหรัฐฯ ฟื้นตัวขึ้นได้
- องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ประกาศปรับการคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลก ปี 64 และ 65 เป็น 5.6% และ 4% จากเดิมที่คาดการณ์ในเดือน ธ.ค. 63 ที่ผ่านมาว่าจะเติบโตที่ระดับ 4.2% และ 3.7% ตามลำดับ โดยที่การปรับตัวเลขที่เพิ่มขึ้นในครั้งนี้ได้รับแรงหนุนมาจากความคืบหน้าจากการแจกจ่ายวัคซีนโควิด-19 เชิงรุกในหลายประเทศทั่วโลก นอกจากนี้ OECD ยังประเมินว่า เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มจะขยายตัวฟื้นกลับไปแตะระดับก่อนเกิดโควิด-19 ระบาดภายในช่วงกลางปีนี้
- ตลาดยังคงได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการที่กลุ่มโอเปกและชาติพันธมิตร หรือ โอเปกพลัสมีมติคงการปรับลดการผลิตน้ำมันดิบที่ระดับ 7.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน และ ซาอุดิอาระเบียยังคงลดกำลังการผลิตจากข้อตกลงอีก 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ไปในระยะเวลาอีก 1 เดือน ขณะที่รัสเซียและคาซัคสถานจะปรับเพิ่มการผลิตขึ้นเพียง 0.15 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทำให้การลดการผลิตเดือน เม.ย. อยู่ที่ระดับ 7.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงจากระดับ 8.05 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน มี.ค. ซึ่งการลดการผลิตระดับดังกล่าวส่งแรงหนุนต่อราคาน้ำมันให้อยู่ระดับสูงต่อไป ทั้งนี้กลุ่มผู้ผลิตจะมีการประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 1 เม.ย. เพื่อพิจารณาปริมาณการผลิตสำหรับเดือน พ.ค. 64 เป็นต้นไป
- ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลังจำนวนหลุมขุดเจาะน้ำมันดิบสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 62 โดย Baker Hughes รายงานจำนวนหลุมขุดเจาะน้ำมันดิบสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่สองมาอยู่ที่ระดับ 403 แท่นซึ่งนับเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ค. 64
-
ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น หลังโรงกลั่นน้ำมันในแถบเท็กซัสคาดว่าจะกลับมาดำเนินการตามปกติช้ากว่าที่กำหนด ขณะที่ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 5 มี.ค. 64 ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่แล้วที่ 13.8 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้
- เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ การกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ การตัดสินใจเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ และดัชนีราคาผู้บริโภคยูโรโซน
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (8 - 12 มี.ค. 64)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 0.48 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 65.61 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 0.14 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 69.22 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 68.07 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากราคาได้รับแรงกดดันจากความต้องการน้ำมันดิบของโรงกลั่นสหรัฐฯเพราะโรงกลั่นน้ำมันกลับมาดำเนินการช้ากว่าที่กำหนด อย่างไรก็ตามราคายังได้รับแรงหนุนจากงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ มูลค่า 1.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ได้ผ่านความเห็นชอบโดยสภาสหรัฐฯ และได้รับการลงนามรับรองโดยประธานาธิบดีโจ ไบเดนในสัปดาห์ที่ผ่านมา และข้อตกลงลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกพลัสที่ระดับ 7.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน และการลดกำลังการผลิตของซาอุดิอาระเบียเพิ่มจากข้อตกลงอีก 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ปรับขึ้นถึง 70 เหรียญสหรัฐฯ สูงสุดในรอบ 1 ปี จากปัจจัยความวิตกกังวลจากเหตุการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลางหลังจากกลุ่มกบฎฮูตีของเยเมน โจมตีท่าเรือส่งออกน้ำมันสำคัญของซาอุฯ แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ
ข่าวเด่น