ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 59-64 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 63-68 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (26 – 30 เม.ย. 64)
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มถูกกดดันเนื่องจากอินเดียพบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายวัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาด ทำให้อินเดียต้องประกาศล็อกดาวน์กรุงนิวเดลีเป็นเวลา 1 สัปดาห์ นอกจากนี้ ญี่ปุ่นมีการประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินอีกครั้งในโอซากา เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน อย่างไรก็ตาม อุปทานน้ำมันดิบในสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับลด หลังอัตราการผลิตของโรงกลั่นน้ำมันในแถบชายฝั่งทะเลของสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 63 ในขณะที่ นักลงทุนจับตาผลการประชุมของกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตร (OPEC+ technical committee) ในวันที่ 26 เม.ย. 64 เกี่ยวกับข้อตกลงการปรับลดกำลังการผลิต
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
- ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มถูกกดดัน หลังผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 รายวันในอินเดียสูงเกือบ 300,000 ราย ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาด ทำให้อินเดียต้องประกาศล็อกดาวน์กรุงนิวเดลีเป็นเวลา 1 สัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 19 เม.ย. 64 เป็นต้นไป เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งสถานการณ์ในอินเดียมีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน เนื่องจากอินเดียเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันมากเป็นอันดับ 3 ของโลก
- ญี่ปุ่นมีการประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินอีกครั้งในโอซากา เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ซึ่งนับเป็นการประกาศภาวะฉุกเฉินครั้งที่ 3 ของญี่ปุ่น ท่ามกลางการระบาดในระลอกที่ 4 ในขณะที่กรุงโตเกียวเตรียมเรียกร้องให้รัฐบาลกลางประกาศภาวะฉุกเฉินเช่นกัน เพื่อต้องการลดการเดินทางในช่วงวันหยุดยาว (Golden Week) ในช่วง 29 เม.ย. - 5 พ.ค. 64
- นักลงทุนจับตาผลการประชุมของกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตร (OPEC+ technical committee) ในวันที่ 26 เม.ย. 64 เพื่อเจรจาเกี่ยวกับสถานการณ์ตลาดน้ำมัน ติดตามการผลิตน้ำมันดิบของแต่ละประเทศตามข้อตกลงของกลุ่ม รวมถึงทบทวนข้อตกลงการปรับลดกำลังการผลิตที่ได้มีมติร่วมกันเมื่อช่วงต้นเดือน เม.ย. 64 ซึ่งทางรัสเซียเปิดเผยว่า ถ้าไม่มีเหตุการณ์ผิดปกติ ทางกลุ่มโอเปกพลัสยังคงยืนยันปรับลดกำลังการผลิตตามข้อตกลงเดิมที่จะเริ่มปรับเพิ่มกำลังการผลิตในอีก 3 เดือนข้างหน้า
- ตลาดจับตาการประชุมระหว่างอิหร่านและ 6 ประเทศมหาอำนาจเกี่ยวกับข้อตกลงนิวเคลียร์ในสัปดาห์นี้ ซึ่งหากประสบความสำเร็จอาจทำให้มาตรการคว่ำบาตรต่ออิหร่านผ่อนคลายลง และอาจส่งผลให้อุปทานน้ำมันจากอิหร่านกลับสู่ตลาดเพิ่มขึ้น
- อุปทานน้ำมันดิบในสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับลด หลังสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานอัตราการผลิตของโรงกลั่นน้ำมันในแถบชายฝั่งทะเลของสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 16 เม.ย. 64 ปรับเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับร้อยละ 88.3 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 63 แสดงถึงความต้องการใช้น้ำมันสหรัฐฯ มีสัญญาณฟื้นตัว
- ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อ่อนค่าลง จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) กล่าวว่าการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อจะเป็นเพียงชั่วคราว ส่งผลให้นักลงทุนมองว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 0.00%-0.25% ต่อไป
-
เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยูโรโซนเดือน เม.ย. 64 จีดีพียูโรโซนไตรมาส 1/64 นโยบายทางด้านการเงินและการตัดสินใจเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ และจีดีพีสหรัฐฯ ไตรมาส 1/64
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (19 – 23 เม.ย. 64)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 1.32 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 62.14 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 0.83 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 66.11 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 62.95 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยตลาดได้รับแรงหนุนจากการส่งออกน้ำมันดิบจากลิเบียที่มีแนวโน้มลดลง หลังบริษัทน้ำมันแห่งชาติลิเบีย (NOC) ประกาศภาวะสุดวิสัยด้านการส่งออกน้ำมัน (force majeure) ที่ท่าเรือ Hariga จากปัญหาด้านงบประมาณกับธนาคารกลางของประเทศ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกน้ำมันดิบของประเทศลิเบียประมาณ 180,000 บาร์เรลต่อวัน อย่างก็ตาม ตลาดยังถูกกดดันจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในอินเดีย ซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันมากเป็นอันดับ 3 ของโลก โดยล่าสุดพบผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวนเกือบ 3 แสนราย ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19
ข่าวเด่น