ข่าว เบรกกิ้งนิวส์
บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ : ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 62-67 เหรียญสหรัฐฯ


ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 62-67 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 66-71 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
 
                                       
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (10 – 14 พ.ค. 64)
 
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อนหน้า หลังได้รับแรงหนุนจากความต้องการใช้น้ำมันที่มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นเนื่องจากการผ่อนปรนมาตรการปิดเมืองและล็อกดาวน์ในหลายประเทศ นำโดยสหรัฐฯ และยุโรป เนื่องจากมีความคืบหน้าของการฉีดวัคซีนในสหรัฐฯ และยุโรป ค่อนข้างมาก นอกจากนี้ ราคายังได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง จากโรงกลั่นที่มีแนวโน้มเพิ่มกำลังการกลั่นขึ้นเพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำมันที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น  อย่างไรก็ตาม ราคายังคงได้รับแรงกดดันจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะประเทศในอินเดีย หลังพบมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ที่เพิ่มมากขึ้น
 
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
 
- ความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังหลายประเทศมีแนวโน้มผ่อนปรนมาตรการปิดเมืองและล็อกดาวน์เนื่องจากความคืบหน้าของการฉีดวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึง จำนวนผู้ติดเชื้อในสหรัฐฯ และยุโรปที่ปรับลดลง เช่น สหรัฐฯ จะดำเนินมาตรการผ่อนปรนข้อจำกัดต่างๆ ในรัฐนิวยอร์ก นิวเจอร์ซี และคอนเนคติคัต ตั้งแต่วันที่ 19 พ.ค. เป็นต้นไป ขณะที่ยุโรป อยู่ระหว่างการหารือเพื่อเตรียมตัวเปิดรับนักท่องเที่ยวเพิ่มเติมในเดือนหน้า ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันในปีนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยในรายงานฉบับเดือน เม.ย. สำนักงานพลังงานสากล (IEA) ปรับเพิ่มความต้องการใช้น้ำมันในปีนี้เพิ่มขึ้นราว 0.23 ล้านบาร์เรลต่อวันจากรายงานเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ราว 5.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน
 
- ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับลดลง หลังความต้องการใช้น้ำมันดิบสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหัฐฯ สิ้นสุดวันที่ 30 เม.ย. ปรับลดลงกว่า 8.0 ล้านบาร์เรลมาอยู่ที่ระดับ 485 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลง 2.3 ล้านบาร์เรล หลังโรงกลั่นเพิ่มกำลังการกลั่นปรับสูงขึ้น 1.1% จากสัปดาห์ก่อนหน้า และปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบที่ปรับเพิ่มขึ้นไปแตะระดับสูงสุดในรอบ 2 ปีที่ราว 4.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน
 
- จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและมีแนวโน้มกดดันต่อความต้องการใช้น้ำมันในระยะสั้น โดยจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกที่ปรับเพิ่มขึ้น นำโดยการเพิ่มขึ้นของอินเดียซึ่งเป็นผู้ใช้น้ำมันอันดับสามของโลก ที่จำนวนผู้ติดเชื้อยังคงอยู่ในระดับสูงกว่า 300,000 รายต่อเนื่องเป็นระยะเวลากว่า 2 สัปดาห์แล้ว ส่งผลให้อินเดียมีการขยายระยะเวลาการใช้มาตรการล็อคดาวน์ออกไปต่อเนื่องเพื่อพยายามลดจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ และปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณา อาจจะมีการใช้มาตรการล็อกดาวน์ทั่วประเทศ หากจำนวนผู้ติดเชื้อยังคงไม่ปรับลดลง 
 
- ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตรมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น หลังกลุ่มผู้ผลิตคงมติที่จะทยอยปรับเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นตั้งแต่เดือน พ.ค. จนถึงเดือน ก.ค. รวมทั้งสิ้นราว 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยกลุ่มผู้ผลิตจะทยอยปรับเพิ่มการผลิตในเดือน พ.ค. และ มิ.ย. ที่ระดับ 0.35 ล้านบาร์เรลต่อวัน  ส่วนเดือน ก.ค. จะปรับการผลิตเพิ่มขึ้น 0.441 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่ซาอุดิอาระเบีย จะปรับการผลิตขึ้นราว 0.25 และ 0.35 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน พ.ค. และ มิ.ย. ตามลำดับ และจะเพิ่มขึ้นราว 0.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ก.ค.
 
- จับตาการเจรจานิวเคลียร์ระหว่างอิหร่านและกลุ่มประเทศหลัก เช่น ฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมัน รัสเซีย และสหรัฐฯ ที่มีความคืบหน้ามากขึ้น แต่ยังไม่ได้มีการสรุปออกมาเป็นข้อตกลงที่จะมีการผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ทั้งนี้ หากมีการผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตร ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของอิหร่านมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น จากปริมาณการผลิตในปัจจุบันที่ประมาณ 2.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน เม.ย. 64
 
- เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดค้าปลีกสหรัฐฯ เดือน เม.ย. ,ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน เดือน พ.ค. ,จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการสหรัฐฯ และผลผลิตภาคอุตสาหกรรมยูโรโซน เดือน มี.ค.

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (3 – 7 พ.ค. 64)  
 
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 1.32 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 64.90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 1.03 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 68.28 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 66.04 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังได้รับแรงหนุนจากความต้องการใช้น้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังหลายประเทศ นำโดยสหรัฐฯ และยุโรป เตรียมผ่อนปรนมาตรการปิดเมืองและล็อกดาวน์ ในเร็วๆนี้ โดยสหรัฐฯ จะดำเนินมาตรการผ่อนปรนข้อจำกัดต่างๆ ในรัฐนิวยอร์ก นิวเจอร์ซี และคอนเนคติคัต ตั้งแต่วันที่ 19 พ.ค. เป็นต้นไป ขณะที่ยุโรป อยู่ระหว่างการหารือเพื่อเตรียมตัวเปิดรับนักท่องเที่ยวเพิ่มเติมในเดือนหน้า นอกจากนี้ ราคายังได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ หลังความต้องการใช้น้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้น โดย EIA รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 30 เม.ย. ปรับลดลงกว่า 8 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลง 2.3 ล้านบาร์เรล
 

บันทึกโดย : Adminวันที่ : 10 พ.ค. 2564 เวลา : 09:46:02

22-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 22, 2024, 2:53 am