ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 63-68 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 66-71 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (17 – 21 พ.ค. 64)
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวต่อเนื่อง หลังราคาได้รับแรงกดดันจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นในอินเดีย หลังพบมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ที่เพิ่มมากขึ้นและมีการกระจายไปประเทศอื่นๆ ทั่วโลก อย่างไรก็ตามราคาได้รับแรงหนุนความต้องการใช้น้ำมันที่เริ่มฟื้นตัว จากการคลายมาตรการล็อคดาวน์ในยุโรปและสหรัฐฯ และผลความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทั่วโลก นอกจากนั้นท่อโคโรเนียลที่ยังไม่สามารถกลับมาดำเนินการได้ปกติ ส่งผลให้ตลาดกังวลการขาดแคลนน้ำมันสำเร็จรูปบริเวณฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
- ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงกดดันจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ยังเพิ่มสูงขึ้นในอินเดีย ล่าสุดมีผู้ติดเชื้อใหม่รายวันมากกว่า 4 แสนคนต่อวัน โดยองค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้ไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์อินเดียไวรัสกลายพันธุ์ที่น่ากังวลทั่วโลก หลังงานวิจัยชี้ว่า มันเป็นสายพันธุ์ที่ระบาดได้ง่าย ทำให้หลายพื้นที่ในอินเดียได้ประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ รวมถึงกรุงนิวเดลี เมืองหลวงของประเทศ ที่ล่าสุดประกาศขยายเวลาล็อกดาวน์ไปจนถึงวันที่ 17 พ.ค. ซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่าสถานการณ์โควิด-19 น่าจะยืดเยื้อต่อเนื่อง หลังจำนวนประชากรที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกัน ยังอยู่ในระดับต่ำเพียง 10% กดดันความต้องการใช้น้ำมัน
- นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจำนวนเที่ยวบินระหว่างประเทศยังถูกจำกัด กดดันความต้องการใช้น้ำมันอากาศยานต่อเนื่อง หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในอินเดียที่มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น ทำให้หลายประเทศประกาศระงับเที่ยวบินจากอินเดียเข้าประเทศ อย่างไรก็ตาม เที่ยวบินภายในประเทศมีแนวโน้มฟื้นตัว โดยเฉพาะในประเทศจีนที่จำนวนเที่ยวบิน ณ สัปดาห์สิ้นสุด 10 พ.ค. 64 สูงกว่าปี 63 ที่ระดับ 8.6% สอดคล้องกับ Goldman Sachs ที่คาดว่าความต้องการใช้น้ำมันอากาศยานในเดือน พ.ค. 64 จะเพิ่มขึ้นเป็น 3.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงกว่า 2.2 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน พ.ค. 63
- สำนักงานพลังงานสากล (IEA) ฉบับเดือน พ.ค. 64 ปรับลดประมาณการความต้องการใช้น้ำมันโลกปี 64 เมื่อเทียบกับรายงานเดือน เม.ย. 64 ลง 26,000 บาร์เรลต่อวันมาอยู่ที่ระดับ 96.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งคิดเป็นการเพิ่มขึ้น 5.4 ล้านบาร์เรลต่อวันเมื่อเทียบกับปี 63 สอดคล้องกับรายงานประจำเดือน พ.ค.64 ของโอเปกที่คาดว่าความต้องการใช้น้ำมันโลกจะอยู่ที่ระดับ 96.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันถูกกดดันจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่รุนแรงในอินเดีย บราซิล และยุโรป รวมถึงสภาพอากาศหนาวเย็นผิดปกติในสหรัฐฯ ในช่วงเดือนก.พ. 64 อย่างไรก็ตาม IEA คาดว่าความต้องการใช้น้ำมันในช่วงครึ่งปีหลังจะฟื้นตัว จากการฉีดวัคซีนที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 น่าจะลดความรุนแรงลง
- มาตรการล็อคดาวน์ทั่วโลกมีแนวโน้มคลี่คลายขึ้น หลังการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพิ่มมากขึ้น ล่าสุดสหรัฐฯ เป็นชาติแรกที่อนุมัติให้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ของ Pfizer สามารถใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีได้ โดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน เน้นย้ำให้ทุกรัฐในสหรัฐฯ จัดเตรียมวัคซีนสำหรับฉีดให้เด็กต่ำกว่า 12 ปีให้เพียงพอ นับเป็นมาตรการที่จะช่วยในการควบคุมการแพร่ระบาดและทำให้เด็กสามารถกลับเข้าได้เรียนได้อย่างปกติ
- ตลาดกังวลปริมาณอุปทานน้ำมันสำเร็จรูปในสหรัฐฯ ขาดแคลน หลังท่อขนส่งน้ำมันสำเร็จรูป โคโลเนียล ไปป์ไลน์ (Colonia Pipeline) ถูกอาชญากรไซเบอร์โจมตีเรียกค่าไถ่เมื่อวันที่ 7 พ.ค. ที่ผ่านมา ทำให้ท่อขนส่งดังกล่าวต้องหยุดดำเนินการ โดยท่อโคโลเนียลขนส่งน้ำมันเบนซิน ดีเซล และน้ำมันอากาศยานจากบริเวณอ่าวเม็กซิโกไปยังบริเวณฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ ปริมาณ 2.5 ล้านบาร์เรลต่อวันหรือคิดเป็น 45% ของปริมาณความต้องการบริเวณฝั่งตะวันออก ทำให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ณ วันที่ 12 พ.ค. ท่อขนส่งเริ่มกระบวนการกลับมาดำเนินการอีกครั้ง แต่ประเมินว่าต้องใช้เวลาอีกระยะกว่าจะกลับมาดำเนินการได้ปกติ
- หลังคลายมาตรการล็อคดาวน์ เศรษฐกิจจีนมีการฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัด หลังยอดส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้น 32.3% ในเดือน เม.ย.64 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 24.1% นอกจากนั้น ปริมาณการนำเข้าสินค้าก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกันที่ระดับ 43.1% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม ปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบจีนในเดือนเม.ย.64 ปรับลด 0.2% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว อยู่ที่ 9.82 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากปริมาณน้ำมันดิบคลังในประเทศจีนยังอยู่ในระดับสูง ทำให้หลายโรงกลั่นนำน้ำมันคงคลังออกมาทำการผลิต
- ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันดิบสหรัฐฯ มีแนวโน้มทรงตัว หลังปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ณ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 7 พ.ค. ปรับลดลง 427,000 บาร์เรล แตะระดับ 484.7 ล้านบาร์เรล ลดลงน้อยกว่านักวิเคราะห์คาดว่าจะปรับลดลง 2.8 ล้านบาร์เรล หลังปริมาณส่งออกน้ำมันดิบสหรัฐฯ ลดลง 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน นับเป็นระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือน ต.ค. 61 และกำลังการผลิตโรงกลั่นน้ำมันสหรัฐฯลดลง 0.4%
- เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลข GDP ไตรมาส 1/64 ของกลุ่มยูโรโซน ดัชนีผู้บริโภคสหราชอาณาจักรและกลุ่มยูโรโซนเดือนเม.ย.64 รายงานการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ การตัดสินใจนโยบายดอกเบี้ยของธนาคารจีน
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (10 – 14 พ.ค. 64)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 0.47 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 65.37 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 0.43 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 68.71 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 65.43 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังตลาดกังวลปริมาณน้ำมันสำเร็จรูปบริเวณฝั่งตะวันออกสหรัฐฯ จะขาดแคลนจากการปิดของท่อโคโลเนียล เนื่องจากการเรียกค่าไถ่ทางไซเบอร์ ทำให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนั้นการคลายมาตรการล็อคดาวน์ของยุโรปและสหรัฐฯ เป็นปัจจัยสนับสนุนราคาน้ำมัน อย่างไรก็ตามจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในอินเดียยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กดดันความต้องการใช้น้ำมันในอินเดีย และปริมาณน้ำมันดิบส่วนเกินที่อาจจะเพิ่มขึ้นจากสหรัฐฯ หลัง Baker Hughes รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติสหรัฐฯ ณ สัปดาห์สิ้นสุด 7 พ.ค. 64 ปรับเพิ่มขึ้น 8 แท่น สู่ระดับ 448 แท่น นับเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่เดือนเม.ย. 63
ข่าวเด่น