ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 67 - 72 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 69 - 74 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (16 – 20 ส.ค. 64)
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัว โดยตลาดได้รับแรงหนุนจากความต้องการใช้น้ำมันในสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น หลังวุฒิสภาสหรัฐฯ ลงมติผ่านร่างกฎหมายการใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐานวงเงิน 1 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการจ้างงานให้ดีขึ้น นอกจากนี้ ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันในอินเดียเดือน ก.ค. 64 ปรับตัวสูงสุดนับตั้งแต่เดือน เม.ย. 64 หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย อย่างไรก็ตาม ตลาดยังมีแนวโน้มถูกกดดันจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ที่อาจส่งผลทำให้ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันในบางประเทศปรับตัวลดลง โดยญี่ปุ่นได้ประกาศภาวะฉุกเฉินในหลายจังหวัดครอบคลุมกว่า 70% ของประชากร ขณะที่จีนประกาศมาตรการจำกัดการเดินทางและยกเลิกเที่ยวบิน
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
- ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันในสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น หลังวุฒิสภาสหรัฐฯ ลงมติผ่านร่างกฎหมายการใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐานวงเงิน 1 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นโครงการการใช้จ่ายด้านสาธารณะที่ใหญ่ที่สุดในรอบหลายสิบปีของสหรัฐฯ โดยจะช่วยเพิ่มอัตราการจ้างงานในสหรัฐฯ และกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้ปรับตัวสูงขึ้น
- สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานกำลังการกลั่นของโรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์ สิ้นสุดวันที่ 6 ส.ค. 64 ปรับเพิ่มขึ้น 277,000 บาร์เรลต่อวัน ขณะที่ปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสหรัฐฯ ปรับลดลง 1.4 ล้านบาร์เรล ไปอยู่ที่ระดับ 227.5 ล้านบาร์เรล ซึ่งสะท้อนถึงปริมาณความต้องการใช้น้ำมันในสหรัฐฯ ที่ปรับตัวสูงขึ้น
- ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันในอินเดียเดือน ก.ค. 64 ปรับตัวสูงสุดนับตั้งแต่เดือน เม.ย. 64 ที่เกิดการแพร่ระบาดหนักของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ โดยความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 เมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย. 64 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนหน้า ไปอยู่ที่ระดับ 16.83 ล้านตัน หลังอินเดียผ่อนปรนมาตรการปิดเมืองจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
- จับตาท่าทีของสหรัฐฯ หลังทำเนียบขาวสหรัฐฯ เผยว่าอยู่ในช่วงระหว่างการติดต่อไปยังสมาชิกกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตร (โอเปกพลัส) โดยระบุว่าไม่ได้เรียกร้องให้บรรดาผู้ส่งออกน้ำมันปรับเพิ่มปริมาณกำลังผลิต แต่มีเป้าหมายเพื่อการประสานงานในระยะยาว ซึ่งยังไม่จำเป็นต้องได้รับการตอบสนองในทันที โดยก่อนหน้านี้มีข่าวว่าทางสหรัฐฯ ได้ขอให้ทางกลุ่มโอเปกพลัสปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน เพราะนโยบายการผลิตน้ำมันของโอเปกพลัสยังไม่เพียงพอต่อการรองรับปริมาณการใช้น้ำมันของโลก
- การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าทั่วโลกยังคงกดดันความต้องการใช้น้ำมัน โดยญี่ปุ่นได้ประกาศภาวะฉุกเฉินในหลายจังหวัดครอบคลุมกว่า 70% ของประชากร ขณะที่จีนประกาศมาตรการจำกัดการเดินทางและยกเลิกเที่ยวบิน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ส่วนสหรัฐฯ มีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในรัฐที่มีการฉีดวัคซีนอยู่ในระดับต่ำ
- การส่งออกของจีนในเดือน ก.ค. 64 ขยายตัว 19.3% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นการเติบโตที่ชะลอตัวลงจากเดือน มิ.ย. 64 ที่เติบโตถึง 32.2% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยเป็นผลมาจากการกลับมาแพร่ระบาดอีกครั้งของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าโดยเฉพาะทางตอนใต้และตะวันออกซึ่งเป็นศูนย์กลางการส่งออกสินค้าของจีน และเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่และสภาพอากาศที่เลวร้ายในช่วงเดือน มิ.ย. - ก.ค. 64 ที่ส่งผลกระทบต่อการผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนในหลายพื้นที่
- สกุลเงินดอลล่าร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้น หลังตัวเลขการว่างงานสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงมากกว่าร้อยละ 5.4 ในเดือน ก.ค. 64 ซึ่งเป็นปัจจัยลบต่อตลาดน้ำมัน เนื่องจากส่งผลให้สัญญาน้ำมันดิบมีราคาแพงขึ้น และมีความน่าสนใจลงทุนน้อยลง สำหรับนักลงทุนที่ถือเงินสกุลอื่น
- เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ยอดค้าปลีกจีนและสหรัฐฯ เดือน ก.ค. 64 ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมจีนเดือน ก.ค. 64 จีดีพีสหภาพยุโรปไตรมาส 2/64 และรายงานการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC)
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (9 – 13 ส.ค. 64)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับขึ้น 0.16 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 68.44 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลด 0.11 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 70.59 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 70.10 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยตลาดได้รับแรงสนับสนุนหลังสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์ สิ้นสุดวันที่ 6 ส.ค. 64 ปรับลดลง 447,000 บาร์เรล ไปอยู่ที่ระดับ 438.8 ล้านบาร์เรล เนื่องจากปริมาณความต้องการใช้น้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ตลาดยังถูกกดดันจากมาตรการปิดเมืองที่เข้มงวดของหลายประเทศในเอเชียเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา รวมถึงการที่องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เรียกร้องให้นานาชาติยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและถ่านหิน เนื่องจากภาวะโลกร้อนกำลังใกล้เข้าสู่ระดับวิกฤต ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในตลาดน้ำมัน
ข่าวเด่น