ไทยออยล์ วิเคราะห์สถานการณ์น้ำมัน ประจำวันที่ 20 ส.ค. ราคาน้ำมันดิบปรับลดต่ำสุดในรอบ 3 เดือน หลังน้ำมันเบนซินคงคลังของสหรัฐฯ ปรับเพิ่ม สะท้อนอุปสงค์ที่ลดลง
- ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นวันที่หก หลังสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 13 ส.ค. 64 ปรับเพิ่มขึ้น 700,000 บาร์เรล แตะระดับ 228.17 ล้านบาร์เรล ซึ่งสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 2.3 ล้านบาร์เรล ปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตายังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในสหรัฐฯ ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันเบนซินลดลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่สอง โดยลดลง 1% มาอยู่ที่ 9.33 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- ราคาน้ำมันยังได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของเงินสกุลดอลลาร์ เมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น หลังรายงานการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ส่งสัญญาณปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรในช่วงปีนี้ โดยดัชนีค่าเงินดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 0.3% มาอยู่ที่ 93.359 ซึ่งเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่ พ.ย. 63 ส่งผลให้ความน่าสนใจในการลงทุนในตลาดน้ำมันลดลง สำหรับนักลงทุนที่ถือเงินสกุลอื่น เนื่องจากสัญญาน้ำมันดิบจะมีราคาแพงขึ้น
- สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) ปรับลดคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกในปี 64 ลง 120,000 บาร์เรลต่อวัน สู่ระดับ 5.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ราคาน้ำมันดิบ
เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล 19 ส.ค.64 เปลี่ยนแปลง
เวสต์เท็กซัส 63.69 -1.77
เบรนท์ 66.45 -1.78
ดูไบ 65.54 -3.16
ราคาน้ำมันสำเร็จรูปประเทศสิงคโปร์
เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล 19 ส.ค.64 เปลี่ยนแปลง
เบนซินออกเทน 76.68 -3.57
น้ำมันก๊าดและอากาศยาน 69.90 -2.85
ดีเซลหมุนเร็ว (0.05% S) 69.80 -2.78
น้ำมันเตา (3.5% S) 61.05 -2.11
ราคาน้ำมันเบนซิน
ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากถูกกดดันจากอุปสงค์ที่ยังจำกัดในภูมิภาค จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะเวียดนาม ที่กำลังเผชิญกับปัญหาปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลัง ที่อยู่ในระดับสูง
ราคาน้ำมันดีเซล
ปรับตัวลดลงน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ โดยได้รับแรงหนุนจากอุปทานน้ำมันดีเซลของญี่ปุ่นที่ลดต่ำลง 11% ในสัปดาห์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามความต้องการใช้น้ำมันยังคงถูกจำกัด จากมาตรการล็อกดาวน์
ข่าวเด่น