ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 68-73 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 70-75 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (6 -10 ก.ย. 64)
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัว หลังกลุ่มโอเปกพลัสมีมติคงกำลังการผลิตตามแผนเดิม ขณะที่ตลาดกังวลปริมาณน้ำมันดิบสหรัฐฯ จะกลับมาดำเนินการช้า จากการหยุดดำเนินการผลิตของแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบ เนื่องจากการพัดถล่มของพายุเฮอริเคนไอดาในสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากนั้นราคาน้ำมันดิบได้รับแรงหนุนจากการอ่อนค่าของเงินสกุลดอลลาร์ หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ มีแผนจะคงมาตรการ QE นานกว่าที่คาด อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบยังคงเผชิญกับแรงกดดันจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ยังคงเพิ่มขึ้นสูงต่อเนื่องทั่วโลก ทำให้หลายประเทศคงมาตรการจำกัดการเดินทางเพื่อลดการแพร่ระบาด
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
- การประชุมของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันดิบและพันธมิตร (โอเปกพลัส) ในวันที่ 1 ก.ย. 64 ได้ข้อสรุปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ที่จะคงนโยบายเดิมในการปรับเพิ่มกำลังการผลิตอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้ กลุ่มโอเปกพลัสจะปรับเพิ่มกำลังการผลิตเพียง 4 แสนบาร์เรลต่อวันในเดือน ต.ค. 64 แม้ว่าสหรัฐฯ จะเสนอให้ทางกลุ่มเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นจากเดิม เพื่อรักษาสมดุลตลาดน้ำมันดิบ โดยการประชุมกลุ่มโอเปกพลัสครั้งถัดไปจะจัดขึ้นในวันที่ 4 ต.ค. 64 เพื่อพิจารณานโยบายการเพิ่มกำลังการผลิตของเดือน พ.ย. 64
- เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา พายุเฮอริเคนไอดาเข้าพัดถล่มอ่าวเม็กซิโก สหรัฐฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในพายุที่รุนแรง นับตั้งแต่พายุเฮอริเคนแคทรีนา ทำให้บริษัทขุดเจาะน้ำมันดิบหลายแห่งในอ่าวเม็กซิโก ต้องหยุดดำเนินการผลิตราว 94% ของกำลังการผลิตในอ่าวเม็กซิโก หรือราว 1.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบอาจจะกลับมาดำเนินการผลิตได้ภายในสัปดาห์หน้า นอกจากนั้นโรงกลั่นน้ำมันในบริเวณดังกล่าวราว 27% ของกำลังการกลั่นในอ่าวเม็กซิโก หรือราว 2.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ต้องหยุดดำเนินการผลิตเช่นกัน ทั้งนี้โรงกลั่นน้ำมันอาจจะกลับมาดำเนินการผลิตได้ช้ากว่า เพราะระบบไฟฟ้าและน้ำอาจกลับมาดำเนินการช้ากว่าที่คาด อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายสัปดาห์พายุเฮอริเคนไอดา ได้ลดระดับความรุนแรงลงเป็นพายุโซนร้อนแล้ว
- ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงหนุนจากการอ่อนตัวของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ หลังนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) กล่าวว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังฟื้นตัวและมาถึงจุดที่ไม่จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากนโยบายการเงินมากเท่าเดิม รวมถึงมีแผนที่จะปรับลดมาตรการ QE ในช่วงปลายปี ซึ่งช้ากว่าที่ตลาดคาดการณ์ โดยค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อ่อนตัวส่งผลให้นักลงทุนที่ถือเงินในสกุลเงินอื่นสนใจลงทุนในสัญญาน้ำมันดิบมากขึ้น
- สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 27 ส.ค. 64 ปรับลดลง 7.2 ล้านบาร์เรล แตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ก.ย. 62 ลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าจะปรับลดลงราว 3.1 ล้านบาร์เรล นอกจากนี้กำลังการผลิตโรงกลั่นสหรัฐฯ ปรับลดลง 134,000 บาร์เรลต่อวัน หรือลดลงราว 1.1% หลังได้รับผลกระทบจากพายุไอดา ที่ทำให้แท่นขุดเจาะน้ำมันดิบ และโรงกลั่นน้ำมันดิบ ต้องหยุดดำเนินการ
- สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกยังคงเพิ่มสูงขึ้น โดยจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั่วโลกยังคงอยู่ในระดับสูงกว่า 5 แสนคนต่อวัน ทั้งจากสหรัฐฯ อังกฤษ รัสเซีย และกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิเช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม ทำให้หลายประเทศยังคงบังคับใช้มาตรการจำกัดการเดินทาง และส่งผลกดดันต่อความต้องการใช้น้ำมันและเศรษฐกิจ ทั้งนี้การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องแตะระดับมากกว่า 35% ใน 182 ประเทศ โดย Bloomberg คาดการณ์ว่าจะใช้เวลาราว 5 เดือนนับจากนี้ ที่จะทำให้ปริมาณการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทั่วโลกอยู่ที่ระดับ 75% ของประชากรโลก จนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่
- เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ จีดีพีสหราชอาณาจักรในไตรมาส 2/64 ดัชนีผู้บริโภคจีนและสหรัฐฯ เดือน ส.ค. 64 การตัดสินใจอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (30 ส.ค. – 3 ก.ย. 64)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 0.55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 69.29 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 0.09 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 72.61 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 71.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังตลาดกังวลอุปทานน้ำมันดิบสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบจากพายุ เฮอริเคนไอดาที่พัดถล่มแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในอ่าวเม็กซิโก สหรัฐฯ ทำให้กำลังการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ ต้องหยุดดำเนินการผลิตราว 1.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็นราว 94% ของกำลังการผลิตในอ่าวเม็กซิโก รวมถึงราคาได้รับแรงหนุนจากการอ่อนค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯ มีแผนจะปรับลดวงเงินของมาตรการ QE ช้ากว่าที่ตลาดคาด อย่างไรก็ตามจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกยังคงเพิ่มสูงขึ้น กดดันการฟื้นตัวของความต้องการใช้น้ำมัน
ข่าวเด่น