ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 67-72 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 70-75 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (13 -17 ก.ย. 64)
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัว หลังสำนักงานด้านพลังงานสารสนเทศสหรัฐฯ (EIA) คาดกำลังการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวลดลงในเดือน ก.ย.64 เนื่องจากแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบบริเวณอ่าวเม็กซิโกที่ได้รับผลกระทบจากพายุเฮอริเคนไอดายังไม่สามารถกลับมาดำเนินการผลิตได้ตามปกติ นอกจากนี้ ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันในเอเชียฟื้นตัวเนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อในหลายประเทศเริ่มปรับตัวลดลงส่งผลให้เริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ในหลายพื้นที่ อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายวันทั่วโลกยังคงอยู่ในระดับสูงจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐฯ กดดันการเติบโตของเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
- สำนักงานด้านพลังงานสารสนเทศสหรัฐฯ (EIA) ปรับการคาดการณ์ระดับการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ ปี 2564 ในรายงานประจำเดือน ก.ย.64 ลดลงจากรายงานฉบับก่อนหน้าในเดือน ส.ค.64 เนื่องจากกำลังการผลิตบริเวณอ่าวเม็กซิโกกว่า 1.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือ 15% ของกำลังการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ หยุดดำเนินการผลิตชั่วคราวจากพายุเฮอริเคนไอดาที่เข้าพัดถล่มเมื่อปลายเดือน ส.ค.64 ที่ผ่านมา โดย EIA คาดกำลังการผลิตบริเวณอ่าวเม็กซิโกในเดือน ก.ย. จะปรับตัวลดลงราว 3 แสนบาร์เรลจากเดือน ส.ค.64 ก่อนที่จะกลับมาดำเนินการผลิตที่ 1.7 ล้านบาร์เรลต่อวันได้อีกครั้งในไตรมาสที่ 4 ขณะที่กำลังการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ ปี 2564 มีแนวโน้มที่จะปรับลดลงราว 2 แสนบาร์เรลต่อวัน ไปอยู่ที่ระดับ 11.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ก่อนที่จะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นสู่ระดับเฉลี่ย 11.7 ล้านบาร์เรลต่อวันได้ในปี 2565
- ความต้องการใช้น้ำมันในเอเชียมีแนวโน้มสูงขึ้น หลังการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในประเทศจีนทรงตัวและมีแนวโน้มดีขึ้นสนับสนุนความต้องการใช้น้ำมันในประเทศ โดยการนำเข้าปริมาณน้ำมันดิบของจีน เดือน ส.ค.64 ปรับเพิ่มสูงขึ้น 8% เมื่อเทียบกับเดือน ก.ค.64 มาที่ระดับ 10.49 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่อุปสงค์ในอินโดนีเซียฟื้นตัวขึ้นเช่นกันหลังมีการผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางในประเทศ หลังจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศอินโดนีเซียในเดือน ก.ย.64 ปรับตัวลดลงกว่า 80% เทียบกับจุดสูงสุดในเดือน ก.ค. นอกจากนี้ เวียดนามเตรียมคลายล็อกดาวน์ในเมืองโฮจิมินห์วันที่ 15 ก.ย.64 และมีแผนที่จะผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในกรุงฮานอยในช่วงสัปดาห์ที่สามของ เดือน ก.ย.64 เพื่อกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สนับสนุนปริมาณความต้องการใช้น้ำมันในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
- การฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจำนวนวัคซีนทั้งหมดที่ได้รับการแจกจ่ายสะสมล่าสุดวันที่ 8 ก.ย.64 ปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 5.6 พันล้านโดสหรือ 36.4% ของประชาการโลก จากอัตราการแจกจ่ายวัคซีนในปัจจุบัน Bloomberg คาดการณ์ว่าในอีก 5 เดือน 75% ของประชากรทั่วโลกจะได้รับวัคซีนป้องกันเชื้อโควิด-19 ซึ่งระดับดังกล่าวเป็นเป้าหมายสำหรับประชากรทั่วโลกเพื่อบรรลุจุดภูมิคุ้มกันหมู่
- อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการจ้างงานนอกจากการเกษตร (Non-farms Payrolls) ของสหรัฐฯ ในเดือน ส.ค.64 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียง 235,000 ตำแหน่ง ต่ำกว่าการคาดการณ์ และต่ำกว่าเดือน ก.ค.64 ที่เพิ่มขึ้น 1,053,000 ตำแหน่ง ซึ่งการปรับลดการจ้างงานคาดสาเหตุมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าที่ยังคงแพร่ระบาดในหลายพื้นที่ของประเทศส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายวันสหรัฐฯ ยังคงเพิ่มสูงขึ้น กระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
- ซาอุดิอาระเบียปรับลดราคาขายน้ำมันดิบอย่างเป็นทางการ (OSPs) ในเดือน ต.ค. ลงอย่างน้อย 1 เหรียญสหรัฐฯ สำหรับน้ำมันดิบทุกเกรดให้กับผู้ซื้อในทวีปเอเชีย ซึ่งปรับลดราคาลงมากกว่าตลาดคาดการณ์ โดยการปรับลดราคา OSP ลงในครั้งนี้ตลาดคาดเพื่อเป็นการเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดของน้ำมันดิบซาอุดิอาระเบียในตลาดเอเชีย หลังในปี 2564 ซาอุดิอาระเบียเสียส่วนแบ่งการตลาดให้กับผู้ขายจากประเทศอื่นในแถบตะวันออกกลางมากขึ้น
- เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมยูโรโซน เดือน ก.ค.64 ดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐฯ และสหราชอณาจักร เดือน ส.ค.64 ดัชนียอดค้าปลีกจีนและสหรัฐฯ เดือน ส.ค.64
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (6 – 10 ก.ย. 64)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 0.43 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 69.72 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 0.31 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 72.92 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 71.04 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังตลาดได้รับแรงหนุนจากอุปทานน้ำมันดิบในสหรัฐฯ บริเวณอ่าวเมกซิโกที่ได้รับผลกระทบจากพายุเฮอริเคนไอดาที่เข้าพัดถล่มกว่า 1.4 ล้านบาร์เรล หรือมากกว่า 75% ของกำลังการผลิตบริเวณอ่าวเม็กซิโกที่ยังคงไม่สามารถกลับมาดำเนินการผลิต และตัวเลขการนำเข้าน้ำมันดิบจีนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือน ส.ค.64 หลังความต้องการใช้น้ำมันในประเทศฟื้นตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงกดดันจากที่สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งตัวมากขึ้นเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้าส่งผลให้นักลงทุนที่ถือเงินสกุลอื่นสนใจลงทุนในสัญญาน้ำมันดิบน้อยลง
ข่าวเด่น