ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 76-82 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 79-85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (11 – 15 ต.ค. 64)
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูง โดยตลาดได้รับแรงหนุนจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากความคืบหน้าของการฉีดวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ขณะที่ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันสำหรับเป็นเชื้อเพลิงทำความร้อนและอุตสาหกรรม แทนที่ก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้น จากราคาก๊าซธรรมชาติในภูมิภาคเอเชียปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบมากกว่า 10 ปี อย่างไรก็ตาม ระดับการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ ปรับเพิ่มสูงขึ้นกลับไปสู่ระดับก่อนการพัดถล่มของพายุเฮอริเคนไอดา ส่งผลให้ปริมาณสำรองน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้น กดดันราคาน้ำมันดิบ
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
- องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกรายวัน เฉลี่ยสัปดาห์แรกของเดือน ต.ค.64 สิ้นสุด ณ วันที่ 6 ต.ค.64 ปรับตัวลดลง 22% จากอัตราการติดเชื้อเฉลี่ยในเดือน ก.ย.64 ท่ามกลางจำนวนผู้ได้รับวัคซีนต้านเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด Bloomberg รายงานจำนวนผู้ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็มทั่วโลก อยู่ที่ระดับ 41.7% ทั้งนี้ปัจจัยสถานการณ์โควิด-19 ที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้หลายประเทศมีการผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางมากขึ้นซึ่งส่งผลให้สนับสนุนการฟื้นตัวของปริมาณความต้องการใช้น้ำมัน
- ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากโรงไฟฟ้าหลายแห่งในเอเชียมีการใช้น้ำมันเพื่อเป็นเชื้อเพลิงแทนที่ก๊าซธรรมชาติสำหรับการผลิตกระแสไฟฟ้ามากขึ้น สืบเนื่องจากราคาก๊าซธรรมชาติในภูมิภาคเอเชียปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบมากกว่า 10 ปี จากการบังคับใช้นโยบายเชิงรุกเกี่ยวกับการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในจีนท่ามกลางการขาดแคลนถ่านหินสำหรับการผลิตไฟฟ้า
- ในการประชุมกลุ่มโอเปกและชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ณ วันที่ 4 ต.ค.64 กลุ่มโอเปกพลัสคงมติในการปรับเพิ่มกำลังการผลิตที่ 4 แสนบาร์เรลต่อวัน สำหรับการผลิตในเดือน พ.ย.64 เมื่อเทียบกับการผลิตในเดือน ก.ย. 64 แม้ว่าก่อนหน้านี้ผู้บริโภครายใหญ่ เช่น สหรัฐฯ และ อินเดียจะมีการออกมาเรียกร้องให้ทางกลุ่มโอเปกพลัสปรับเพิ่มกำลังการผลิตขึ้น เพื่อให้อุปทานสมดุลกับความต้องการใช้ที่มีแนวโน้มฟื้นตัวได้เร็วกว่าตลาดคาดการณ์ จากการตัดสินใจของกลุ่มโอเปกพลัสส่งผลให้ตลาดน้ำมันมีแนวโน้มตึงตัวมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในการประชุมครั้งถัดไปที่จะจัดขึ้นในวันที่ 4 พ.ย.64 ทางกลุ่มอาจจะมีการปรับระดับการผลิตเพิ่มขึ้น ถ้าหากทางกลุ่มเห็นว่าตลาดอยู่ในสภาวะขาดสมดุลมากเกินไป
- ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นสวนทางกับการคาดการณ์ โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์ สิ้นสุดวันที่ 1 ต.ค. 64 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.3 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 420.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากการปรับเพิ่มขึ้นของการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มจากสัปดาห์ก่อนหน้า 0.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน สู่ระดับ 11.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับการผลิตก่อนการเกิดพายุเฮอริเคนไอดาในช่วงปลายเดือน ส.ค.64 ที่ผ่านมา
- รัฐมนตรีด้านพลังงานอิหร่านส่งสัญญาณที่จะมีการเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์ระหว่างอิหร่านและ 6 ประเทศต่อในเร็ววันนี้ซึ่งรัฐมนตรีด้านพลังงานอิหร่านให้สัมภาษณ์กับสื่อเมื่อวันพุธที่ 6 ต.ค.64 ที่ผ่านมา หลังมีการเข้าประชุมหารือกับรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียในกรุงมอสโก เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวและประเด็นอื่น อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการกำหนดการที่ชัดเจนเกี่ยวการประชุมว่าจะจัดขึ้นครั้งถัดไปเมื่อใด
- เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ การประชุมกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ดัชนียอดค้าปลีกจีนและสหรัฐฯ ดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐฯ ตัวเลขการนำเข้าและส่งออกของจีน ก.ย.64 ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมยูโรโซน
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (4 – 8 ต.ค.64)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 3.47 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 79.35 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 3.11 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 82.39 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 81.40 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังกลุ่มโอเปกและชาติพันธมิตรหรือโอเปกพลัสคงมติการปรับเพิ่มกำลังการผลิตในการประชุมวันที่ 4 ต.ค. 64 ที่ระดับ 4 แสนบาร์เรลต่อวันสำหรับเดือน พ.ย.64 ต่ำกว่าตลาดคาดการณ์ที่ 8 แสนบาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงหนุนจากตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายวันที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและปริมาณความต้องการใช้น้ำมัน
ข่าวเด่น