ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 79-85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 81-86 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (8 - 12 พ.ย. 64)
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูง หลังได้รับแรงหนุนจากปริมาณความต้องการใช้น้ำมันที่มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นเนื่องจากปริมาณการเดินทางที่เพิ่มมากขึ้น หลังหลายประเทศมีการผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ และปริมาณความต้องการใช้น้ำมันเพื่อทดแทนก๊าซธรรมชาติที่อยู่ในระดับสูงจากราคาก๊าซธรรมชาติที่แพง นอกจากนี้ ราคายังได้รับแรงหนุนจากปริมาณการผลิตของกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตรที่เพิ่มปริมาณการผลิตตามข้อตกลงเดิม แม้ว่ากลุ่มประเทศผู้ใช้น้ำมันจะออกมาเรียกร้องให้ปรับเพิ่มกำลังการผลิตมากกว่าข้อตกลงที่ได้กำหนดไว้ อย่างไรก็ตาม ราคาคาดจะได้รับแรงกดดันจาก ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น จากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มแข็งค่ามากขึ้น ภายหลังจากการลดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณของธนาคารกลางสหรัฐฯ คาดจะส่งผลกดดันต่อราคาน้ำมัน
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
- ในการประชุมวันที่ 4 พ.ย. 64 กลุ่มโอเปกและชาติพันธมิตรมีมติปรับเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นตามข้อตกลงเดิมที่ 4 แสนบาร์เรลต่อวัน ในเดือน ธ.ค. 64 หลังกลุ่มผู้ผลิตยังกังวลความเสี่ยงของการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีการกลายพันธุ์ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน ทั้งนี้ กลุ่มผู้ผลิตจะมีการประชุมอีกครั้งในวันที่ 2 ธ.ค. เพื่อพิจารณาปริมาณการผลิตของเดือน ม.ค. 65 ว่าจะปรับเพิ่มขึ้นตามข้อตกลงเดิมหรือไม่ที่ 4 แสนบาร์เรลต่อวัน
- ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ภายหลังจากการผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ในหลายประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่จะเริ่มเปิดประเทศตั้งแต่ช่วงต้นเดือน พ.ย. 64 เป็นต้นไป ส่งผลให้ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันอากาศยานมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันเพื่อทดแทนก๊าซธรรมชาติมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง หลังราคาก๊าซธรรมชาติยังคงอยู่ในระดับสูง โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าปริมาณความต้องการใช้น้ำมันเพื่อทดแทนก๊าซธรรมชาติจะอยู่ที่ราว 0.5 – 1.0 ล้านบาร์เรลต่อวันในช่วงฤดูหนาว
- ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่สามติดต่อกัน เนื่องจากปริมาณความต้องการใช้น้ำมันดิบของสหรัฐฯ ยังอยู่ในระดับต่ำในช่วงการปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่นและปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำดิบคงคลังสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 29 ต.ค. 64 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.3 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ว่าจะปรับเพิ่มขึ้น 2.2 ล้านบาร์เรล เนื่องจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 0.2 ล้านบาร์เรลต่อวันจากสัปดาห์ก่อนหน้า
- ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ปรับเพิ่มการขุดเจาะน้ำมันดิบต่อเนื่องกว่า 15 เดือนติดต่อกัน ตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ประกอบกับ การผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ได้รับผลกระทบจาก Hurricane ในช่วงเดือน ก.ย. 64 ที่ผ่านมา มีแนวโน้มกลับมาผลิตได้เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ในช่วงกลางเดือน พ.ย. 64 โดยล่าสุด ปิริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ สำหรับสิ้นสุดวันที่ 29 ต.ค. 64 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 11.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับที่สูงสุดในรอบ 3 เดือน
- ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นและส่งผลกดดันต่อราคาน้ำมัน หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) มีมติประกาศลดวงเงินสำหรับมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ลงเดือนละ 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือนจนถึงสิ้นสุดมาตรการในกลางปี 2565 หลังเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวมากขึ้นและอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิม เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่อาจจะเพิ่มมากขึ้น
- จับตาความคืบหน้าการเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์ระหว่างอิหร่านและ 6 ประเทศว่าจะมีความคืบหน้าเพิ่มเติมหรือไม่ หลังล่าสุดทั้งสองฝ่ายได้ข้อสรุปกำหนดการเจรจาครั้งใหม่แล้วในวันที่ 29 พ.ย. นี้ โดยทางด้านสหรัฐฯ ได้มีการเปิดเผยว่ามีโอกาสที่จะสามารถหาข้อสรุปได้ ทั้งนี้หากทั้งสองฝ่ายสามารถบรรลุข้อตกลงได้จะส่งผลให้อิหร่านสามารถเพิ่มปริมาณการผลิตและการส่งออกขึ้นได้ราว 1.0 – 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยตลาดคาดว่าหากะสามารถบรรลุข้อตกลง ปริมาณการส่งออกคาดจะเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีแรกของปีหน้า
- เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐฯ เดือน ต.ค. 64 ดัชนีราคาผู้ผลิตและผู้บริโภคจีน เดือน ต.ค. 64 จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานสหรัฐฯ และผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ย. 64
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (1 - 5 พ.ย. 64)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 2.30 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 81.27 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 1.64 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 82.74 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 79.62 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้จากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ราคาน้ำมันยังได้รับแรงกดดันจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ มีการปรับลดวงเงินในการเข้าซื้อพันธบัตรลงตั้งแต่เดือน พ.ย. 64 เป็นต้นไป รวมถึงราคาพลังงานอย่างถ่านหินและก๊าซธรรมชาติที่เริ่มปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันยังได้รับแรงหนุนจากปริมาณความต้องการใช้น้ำมันที่มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นจากการผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ในหลายประเทศ รวมถึงปริมาณความต้องการใช้น้ำมันเพื่อทดแทนก๊าซธรรมชาติที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากราคาก๊าซธรรมชาติที่อยู่ในระดับสูงและความต้องการใช้ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูหนาว
ข่าวเด่น