ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 76-81 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 79-84 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (10 - 14 ม.ค. 65)
ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง หลังตลาดได้รับแรงหนุนจากปริมาณความต้องการใช้สำหรับเป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้าแทนการใช้ก๊าซธรรมชาติที่ราคายังคงทรงตัวอยู่ระดับสูง จากปัญหาการขนส่งก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียไปยังยุโรป ขณะที่อุปทานน้ำมันดิบจากกลุ่มโอเปกพลัสยังคงเพิ่มขึ้นอย่างจำกัด จากปัญหาในการเพิ่มกำลังการผลิตของประเทศสมาชิกบางประเทศ ท่ามกลางมติการปรับเพิ่มกำลังการผลิตที่ 0.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตามข้อตกลงเดิม อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงจับตาสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันทั่วโลกยังคงปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง
ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:
- ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันยังคงได้รับแรงหนุน จากราคาก๊าซธรรมชาติในยุโรปที่ยังคงทรงตัวในระดับสูงจากปัญหาการขนส่งก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียไปยังยุโรป ส่งผลให้หลายประเทศในยุโรปหันมาใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้าแทนการใช้ก๊าซธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น
- ตลาดจับตาสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน หลังองค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานจำนวนยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายวันทั่วโลกวันที่ 5 ม.ค. 65 ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 2.2 ล้านราย ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นกว่า 190% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของยอดผู้ติดเชื้อรายวันในเดือน ธ.ค. 64 ที่ 0.7 ล้านราย อย่างไรก็ตาม อัตราผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ต้องเข้ารักษาในอภิบาลผู้ป่วยหนัก (ICU) ของหลายประเทศยังคงอยู่ระดับต่ำกว่าการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในระลอกก่อนหน้านี้
- กระทรวงพาณิชย์จีนประกาศโควตาการนำเข้าน้ำมันดิบจำนวน 109 ล้านตัน สำหรับโรงกลั่นเอกชน 42 ราย ในการประกาศโควตารอบแรกของปี 2565 ซึ่งโควตารอบแรกของปีนี้มีปริมาณน้อยกว่าโควตารอบแรกของปี 2564 อยู่ 11% โดยรัฐบาลจีนจัดสรรโควตาราว 40% ให้กับบริษัทรายใหญ่ 3 ราย มากกว่าโควต้าที่มอบให้กับโรงกลั่นขนาดเล็ก (Teapot) เพื่อพยายามควบคุมการหลีกเลี่ยงภาษีของกลุ่มโรงกลั่น Teapot และควบคุมปริมาณการปล่อยมลพิษของประเทศ
- กลุ่มโอเปกและชาติพันธมิตร หรือกลุ่มโอเปกพลัส มีมติคงแผนเดิมในการปรับเพิ่มกำลังการผลิตสำหรับเดือน ก.พ. 65 ที่ 0.4 ล้านบาร์เรลต่อวันในการประชุมครั้งล่าสุดวันที่ 4 ม.ค. 65 เนื่องจากทางกลุ่มเห็นว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน อาจมีผลกระทบต่อตลาดน้ำมันในช่วงระยะสั้น ส่งผลให้ภาพรวมตลาดน้ำมันในช่วงไตรมาสที่ 1/65 ยังไม่เข้าสู่สภาวะเกินดุลมากนัก แม้ว่าจะมีการปรับเพิ่มกำลังการผลิตก็ตาม โดยทางกลุ่มจะมีการติดตามสถานการณ์ตลาดอย่างต่อเนื่องและการประชุมครั้งถัดไปจะจัดขึ้นในวันที่ 2 ก.พ. 65
- อุปทานน้ำมันดิบจากกลุ่มโอเปกพลัส ยังคงมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นอย่างจำกัดเนื่องจากปัญหาการเพิ่มกำลังการผลิตของประเทศสมาชิก เนื่องจากกำลังการผลิตน้ำมันดิบจากลิเบียได้รับแรงกดดันจากความขัดแย้งประเด็นทางการเมืองในประเทศ ขณะที่กำลังการผลิตของเอกวาดอร์ในเดือน ธ.ค. 64 อยู่แค่ระดับ 0.08 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากระดับปกติที่ 0.47 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปัญหาการกัดเซาะของท่อขนส่งน้ำมันดิบ นอกจากนี้การประชุมหารือเพื่อรื้อฟื้นข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านยังคงไม่มีความคืบหน้ามากนัก แม้ว่าจะมีการกลับมาประชุมระหว่างอิหร่านและชาติมหาอำนาจในสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ตาม
- บริษัทเบเกอร์ ฮิวจ์รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 64 ทรงตัวอยู่ที่ระดับ 586 แท่น โดยจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติสหรัฐฯ ในปี 2564 เป็นการปรับเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 235 แท่น
- สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานการคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เฉลี่ยในปี 2565 ประจำเดือน ธ.ค. 64 ลดลง 2% จากการคาดการณ์ในรอบก่อนหน้าในเดือน พ.ย. 64 จาก 73.31 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สู่ระดับ 71.38 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากปัจจัยการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในช่วงต้นปี 2565
- เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ปริมาณการนำเข้าและส่งออกสินค้าของจีน เดือน ธ.ค. 64 ดัชนีราคาผู้บริโภคจีน เดือน ธ.ค. 64 ดัชนียอดค้าปลีกสหรัฐฯ เดือน ธ.ค. 64
สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (3 - 7 ม.ค. 65)
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 3.69 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 78.90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 3.97 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 81.75 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 80.69 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 64 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 417.9 ล้านบาร์เรล ขณะที่กลุ่มโอเปกและชาติพันธมิตรหรือโอเปกพลัสมีมติคงแผนการปรับเพิ่มการผลิตที่ 0.4 ล้านบาร์เรลต่อวันสำหรับการผลิตในเดือน ก.พ. 65 ตามข้อตกลง เนื่องจากทางกลุ่มเห็นพ้องว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน อาจมีผลกระทบต่อตลาดไม่มากนัก
ข่าวเด่น